ทักษะความรู้ของบุคลากรในภาคธุรกิจเป็นหนึ่งในทรัพยากรสำคัญช่วยเติมเต็มขีดความสามารถที่ขาดแคลนให้กับโครงการเพื่อสังคมได้ กลุ่มอาสาสมัครจำนวนหนึ่งจึงไม่เพียงแต่จัดสรรเวลาลงแรงเท่านั้น แต่ยังนำความถนัดในอาชีพมาช่วยเปลี่ยนแปลงสังคม ด้วยความเชื่อว่า ความเชี่ยวชาญที่มีน่าจะสร้างประโยชน์สูงสุดให้ทั้งแก่คนที่ได้รับและตัวเราเองได้
เช้าวันเสาร์เมื่อไม่นานนี้ จิรโรจน์ ติกกะวี Consulting Partner บริษัท สลิงชอท กรุ๊ป จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการโค้ชผู้บริหารระดับสูงและเป็นผู้ฝึกสอนหลักสูตรด้านการพัฒนาภาวะผู้นำได้นัดรวมตัวโค้ชกว่า 10 คนที่มูลนิธิบ้านศรีชุมพาบาล เพื่อจัดกิจกรรม Life Coach Workshop หัวข้อ “ท้าให้กล้าตามฝัน” ซึ่งจัดให้แก่เยาวสตรีร่วม 70 คน ที่มูลนิธิบ้านศรีชุมพาบาลดูแลอยู่ในโครงการ “ช่วยเหลือและพัฒนาเยาวสตรี” ที่อยู่ในภาวะเสี่ยงต่างๆ ให้หลุดจากวงจรความยากไร้และการทารุณ
เยาวสตรีเหล่านี้มีอายุตั้งแต่ 7-17 ปีมาจากครอบครัวยากจนที่มีปัญหาแตกแยก บ้างเคยถูกทำร้าย บ้างตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร บางคนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สุ่มเสี่ยงจากปัญหาการค้ามนุษย์ ยาเสพติด และการล่วงละเมิดทางเพศ มูลนิธิจึงรับมาดูแลทั้งให้ที่พัก สนับสนุนให้ได้รับการศึกษา ส่งเสริมทักษะอาชีพ และจัดกิจกรรมเสริมศักยภาพเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เห็นคุณค่าในตนเอง หากเป็นเยาวชนที่เคยถูกทำร้ายมา จะมีเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านจิตวิทยาเพื่อบำบัดแผลใจและภาวะซึมเศร้า
ก่อนหน้านี้ จิรโรจน์ได้แสดงความจำนงที่จะเป็น “อาสาสมัคร” กับ “ร้อยพลังเปลี่ยนประเทศ” โครงการที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างโครงการเพื่อสังคมต่างๆ ที่มีศักยภาพในการขยายผลให้ได้รับการสนับสนุนทรัพยากรต่างๆ ที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นอาสาสมัคร เครือข่าย ความรู้ หรือแหล่งทุน ร้อยพลังฯ จึงเชื่อมต่อจิรโรจน์มาเป็นอาสาสมัครให้มูลนิธิบ้านศรีชุมพาบาล ซึ่งต้องการทั้งนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา และนักกิจกรรมบำบัดมาช่วยเหลือให้มูลนิธิสามารถขยายผลดูแลเยาวสตรีเหล่านี้ได้ดีขึ้น
หลังจากวางแผนมาหลายสัปดาห์ จิรโรจน์และเพื่อนจึงมาจัดกิจกรรมให้เยาวชนกลุ่มนี้มีหลักในการดำเนินชีวิตและมีกรอบคิดในการเติบโตอย่างมีความสุข โดยให้เรียนรู้ผ่านเกม การชมภาพยนตร์ ชมคลิปวิดีโอต่างๆ สอดแทรกการบรรยายเพื่อให้หลักคิดการสื่อสาร การทำงานเป็นทีม การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง การตั้งเป้าหมายเพื่อความสำเร็จในชีวิต การทำความเข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น การเผชิญกับปัญหา รวมถึงการชวนค้นหาธาตุแท้หรือคุณสมบัติที่ดีที่มีอยู่ในแต่ละคน เพื่อสร้างความมั่นใจที่จะเดินไปยังเป้าหมายที่ตั้งไว้ ก่อนจะปิดท้ายกิจกรรมโดยให้สรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้
“หนูขอขอบคุณพี่ๆ ทุกคนที่ให้ความรู้ ให้หนูได้คิดถึงเป้าหมายของตัวเองว่าคืออะไร และทำให้รู้จักตัวเองมากขึ้น พวกหนูจะทำตามเป้าหมายของตัวเองให้ดีที่สุด” เยาวสตรีคนหนึ่งกล่าวถึงสิ่งที่ตนเองได้รับ ซึ่งสอดคล้องกับอีกหลายคนที่ให้ความเห็นคล้ายกันและอยากให้มีการจัดกิจกรรมแบบนี้อีก
“ตอนแรกหนูไม่อยากมาเลย แต่ซิสเตอร์อยากให้มาเพราะหนูเรียนจบ ม.6 แล้ว ควรมา จะได้รับความรู้ และได้คิดถึงสิ่งใหม่ๆ หนูขอขอบคุณพี่ๆ ทุกคน เพราะปีนี้ หนูจบ ม.6 แล้วไปสอบมหาวิทยาลัยหลายแห่งยังไม่ติดเลย อยากขอบคุณพี่ๆ ที่ทำให้หนูกลับมาสู้อีกครั้ง” อีกเสียงเยาวชนที่ร่วมกิจกรรม
เป็นอาสา ได้ประโยชน์ ได้ความสุข
จิรโรจน์เล่าถึงแรงบันดาลใจที่มาทำงานอาสาว่า “ด้วยงานปัจจุบันที่ทำอยู่ เป็นงานที่เราชอบ เราสนุก ทำให้ชีวิตคนเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นและเราเองก็ผ่านการเดินทางแบบนี้มาเหมือนกัน เมื่อก่อนเราไม่เคยเห็นตัวเอง พอได้เรียนรู้เกี่ยวกับภาวะผู้นำ การพัฒนาตัวเอง การมองข้อดีของตัวเอง การมองคนอื่นในมุมที่กว้างขึ้น ก็รู้สึกมีความสุขมากขึ้น เลยอยากแบ่งปันเรื่องนี้ให้กับคนอื่น และทำให้คนอื่นมีชีวิตที่ดีขึ้น เร็วขึ้นกว่าตัวเอง คิดว่าถ้าช่วยกลุ่มเด็กได้ก็น่าจะดี จึงอยากเป็นอาสาสมัครที่ให้ความรู้เรื่องนี้”
พอมาทำงานอาสาสมัครจริงๆ จิรโรจน์ได้เรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆ เช่นกัน เพราะเดิมเขาตั้งใจนำเวิร์คช้อปที่เคยจัดให้แก่ผู้บริหารองค์กรธุรกิจมาใช้ ซึ่งโดยปกติจะเหมาะสำหรับผู้เข้าอบรมประมาณ 20 คน แต่เมื่อกลุ่มเป้าหมายกลายเป็นเยาวชนร่วม 70 คน จึงต้องออกแบบใหม่ให้มีการสอดแทรกกิจกรรมต่างๆ ที่เน้นความสนุก ดึงดูดความสนใจมากขึ้น ซึ่งเขายอมรับว่าไม่ถนัด จึงได้ชักชวนเพื่อนอีกหลายคนมาช่วย จนสามารถพัฒนากิจกรรมนี้ให้มีเกมต่างๆ เพื่อละลายพฤติกรรม สร้างความคุ้นเคยระหว่างโค้ชกับน้องๆ และสร้างความสนุกให้เด็กที่เข้าร่วมพร้อมเปิดรับเรื่องใหม่ๆ
งานนี้จิรโรจน์ยังระดมเพื่อนฝูงมาเป็นอาสาสมัครเพื่อดูแลน้องๆ ตอนแบ่งกลุ่มทำกิจกรรม เดิมเขาตั้งใจชวนคนที่สนิท แต่เมื่อใช้เวลาออกแบบกิจกรรมนานกว่าที่คิด เพื่อนที่สามารถมาได้ในช่วงแรกจึงติดภารกิจอื่น เขาต้องหาอาสาสมัครใหม่ เปิดรับทั้งเพื่อนที่รู้จักและคนที่เพื่อนแนะนำมา ซึ่งก็ได้จำนวนอาสามากกว่าที่ตั้งไว้ แม้จะกังวลในการร่วมงานกับเพื่อนใหม่อยู่บ้าง แต่เมื่อมาประชุมกันได้เห็นความกระตือรือร้นของคนที่อยากช่วยเหลือเด็กๆ ด้วยกัน จึงกล้าที่จะแบ่งงานให้อาสาแต่ละคนมากขึ้น
จิรโรจน์กล่าวว่า ถ้าไม่มีอาสาเหล่านี้มาช่วย กิจกรรมที่เขาคิดไว้ก็อาจไม่เกิดขึ้นแบบนี้ เขายังรู้สึกประทับใจซิสเตอร์ของมูลนิธิ และน้องๆ ที่ทำกิจกรรมร่วมกันอย่างเต็มที่ ทำให้เขารู้สึกภูมิใจในตัวเอง ในสิ่งที่ได้ทำ และภูมิใจในตัวน้องๆ ด้วย
ณฤดี คริสธานินทร์ กรรมการบริหาร บริษัท ยูเรก้า อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่ปรึกษาด้านการตลาดและกลยุทธ์แบรนด์ เป็นหนึ่งในอาสาสมัครครั้งนี้บอกเล่าถึงเหตุผลที่สนใจงานอาสาสมัครว่า “ส่วนตัวเชื่อเรื่องการปลดล็อคศักยภาพของคน เพราะตั้งแต่เติบโตมาคิดว่าตนเองได้รับโอกาสดีๆ จากคนอื่นเสมอ จึงอยากส่งต่อโอกาสที่ดีให้คนอื่นๆ เช่นกัน”
ที่ผ่านมาณฤดีได้ทำกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง เมื่อจิรโรจน์ชวนมาเป็นอาสาสมัคร เธอจึงตอบรับเข้าร่วม ก่อนจัดงานทีมอาสาสมัครจะมีการประชุมกันเพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับรูปแบบกิจกรรม และแจ้งข้อพึงระวังในการทำกิจกรรมกับน้องๆ เธอเล่าเสริมจิรโรจน์ถึงการประชุมว่า
“เวลาที่คนเราให้คุณค่ากับเรื่องเดียวกัน มาทำอะไรกันด้วยใจ ทุกคนจะถอดหมวกที่ตัวเองเป็น ทำให้เกิดบรรยากาศการช่วยเหลือกัน เป็นการประชุมที่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลสูง ทั้งที่เราอาจจะไม่รู้จักกัน แต่ทุกคนยินดีจะปรับบทบาทของตัวเองเพื่อทำให้งานสำเร็จ”
ณฤดีกล่าวว่าความรู้สึกแบบนี้เกิดขึ้นเสมอ ไม่ว่าไปเป็นอาสาสมัครในกิจกรรมไหน เช่นโครงการ Global Impactors Network ที่สถาบันเช้นจ์ ฟิวชันฯ หาอาสาสมัครผู้เชี่ยวชาญไปร่วมพัฒนาอาชีพให้กับสตรีที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับองค์การอ็อกแฟม ประเทศไทย โดยเธอใช้ความเชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์แบรนด์ พัฒนาแบรนด์ให้กับผลิตภัณฑ์ที่สามารถยกระดับคุณภาพให้ขยายตลาดและสร้างมูลค่าเพิ่มได้ เธอกล่าวถึงสิ่งที่ได้รับว่า
“อาสาแต่ละคนต่างเป็นคนที่ยุ่งมากๆ แต่ทุกคนใช้เวลาเต็มที่จนได้ข้อสรุปร่วมกัน และทุกคนฟังกัน ซึ่งเรามองว่าในกระบวนการทำงานอาสาสมัคร ก็รู้สึกมีความสุขแล้ว ทั้งที่ยังไม่เห็นผลลัพธ์เลย เป็นความสุขจากการได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อขับเคลื่อนงานไปสู่เป้าหมายบางอย่างให้สำเร็จ”
“ส่วนงานที่มูลนิธิบ้านศรีชุมพาบาล เราได้พบเด็กบางคนที่เกเรจนต้องออกจากโรงเรียน แต่สิ่งที่เราเห็นคือเด็กที่มีพลังงานล้นเหลือ มีวิธีคิดที่ฉลาดและคิดถึงการให้ผู้อื่นด้วย ดังนั้นถ้าเรารู้วิธีปลดล็อกศักยภาพคน ไม่ว่าเขาจะอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน เด็กเหล่านี้ก็คือเพชรเม็ดหนึ่งดีๆ นี่เอง ถือเป็น eyes opening ของพี่ๆ ทุกคนที่อยู่ตรงนั้น ยิ่งพอได้ฟังน้องๆ กล่าวขอบคุณและพูดถึงสิ่งที่ได้รับจากกิจกรรมนี้ในตอนจบ ผลลัพธ์ก็ชัดเจน เท่านี้พี่ๆ ก็มีความสุขแล้ว ความสุขเกิดขึ้นตลอดทาง”
จิรโรจน์ ติกกะวี Consulting Partner บริษัท สลิงชอท กรุ๊ป จำกัด มาเป็นอาสาสมัครจัดกิจกรรม “ท้าให้กล้าตามฝัน” แก่เยาวสตรีร่วม 70 คน ที่ซิสเตอร์ยาณี ภานุรักษ์ อธิการิณีคณะภคินีศรีชุมพาบาล กรุงเทพฯ ดูแลอยู่
ใช้ความเชี่ยวชาญ สร้างผลลัพธ์สูงสุด – นอกจากประโยชน์ที่อาสาสมัครได้รับแล้ว จิรโรจน์กล่าวว่า การทำงานอาสาที่ได้ใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญของตัวเองมาช่วย น่าจะสร้างผลลัพธ์ทางสังคมได้มากขึ้น “เราไม่ต้องใช้ความพยายามมากเพราะเป็นงานในอาชีพที่เราทำอยู่แล้วและทำได้ดี ก็น่าจะทำให้มีอิมแพ็คสูงสุด อย่างเทรนนิ่งหรือโค้ชชิ่งก็น่าจะเกิดประโยชน์สูงสุดกับคนที่ได้รับและตัวเราเอง”
ณฤดีเสริมว่า งานภาคสังคมยังขาดแคลนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ อยู่มาก บางมูลนิธิมีความเชี่ยวชาญในการจัดการปัญหาสังคมที่ดำเนินการอยู่ แต่ขาดทักษะบางอย่างที่บุคลากรภาคเอกชนมี เช่น การเขียนรายงานผลการดำเนินงาน ทักษะด้านบัญชี การเงิน การตลาด หรือไอที ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญจากภาคธุรกิจที่แม้จะไม่ถนัดแก้ไขปัญหาสังคมในประเด็นที่ตนสนใจหรือต้องการช่วยเหลือ แต่สามารถใช้ทักษะที่มีอยู่เข้าไปช่วยงานของมูลนิธิที่ขับเคลื่อนประเด็นนั้นได้ “การแบ่งเวลาเพียงนิดเดียวของเรา แต่สำหรับคนที่ได้รับ มันยิ่งใหญ่มาก สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้” ณฤดีกล่าว
ณฤดี คริสธานินทร์ กรรมการบริหาร บริษัท ยูเรก้า อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่ปรึกษาด้านการตลาดและกลยุทธ์แบรนด์ (คนที่ 4 จากซ้าย) และจิรโรจน์ ติกกะวี Consulting Partner บริษัท สลิงชอท กรุ๊ป จำกัด (คนที่ 6 จากซ้าย) พร้อมกลุ่มเพื่อนส่วนหนึ่งที่มาร่วมกันเป็นอาสาสมัครจัดกิจกรรมพัฒนาเยาวสตรีที่อยู่ในภาวะเสี่ยง ให้มีหลักในการดำเนินชีวิตและมีกรอบคิดในการเติบโตอย่างมีความสุข
ด้านมูลนิธิศรีชุมพาบาล ซิสเตอร์ยาณี ภานุรักษ์ อธิการิณีคณะภคินีศรีชุมพาบาล กรุงเทพฯ กล่าวถึงประโยชน์ของการมีอาสาสมัครผู้เชี่ยวชาญมาช่วยงานมูลนิธิ โดยยกตัวอย่างกิจกรรมท้าให้กล้าตามฝันว่า สามารถแบ่งเบาภาระงานและยังเป็นกำลังใจให้มูลนิธิเห็นว่ามีเครือข่ายที่พร้อมสนับสนุน นอกจากนี้ ยังเห็นรูปแบบการทำงานร่วมกับอาสาสมัคร ซึ่งนำมาพัฒนาการทำงานภายในได้อีกด้วย
ขณะที่ประโยชน์ที่เยาวสตรีได้รับนั้น ซิสเตอร์ยาณีกล่าวว่า จากปัญหาที่พวกเขามองไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง ไม่มีความมั่นใจ เมื่อได้ทำกิจกรรมร่วมกับอาสาสมัครซึ่งมาจากหลากหลายอาชีพ ทำให้ได้รับแนวคิดใหม่ๆ และมีความสุข เด็กๆ มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตนเองดีขึ้น มีเป้าหมายในชีวิต และรับผิดชอบต่อหน้าที่มากขึ้น รวมถึงมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นดีขึ้นด้วย
เพื่อช่วยเหลือเยาวสตรีเหล่านี้ต่อไปอีก จิรโรจน์กล่าวว่า พวกเขายังมีกิจกรรมการโค้ชแบบตัวต่อตัวอย่างต่อเนื่องด้วย เพื่อให้เด็กในมูลนิธิบ้านศรีชุมพาบาลสร้างการเปลี่ยนแปลงในตัวเองจนเกิดเป็นพฤติกรรมใหม่ได้ในที่สุด ตอนนี้มีอาสาที่สนใจกิจกรรมนี้ประมาณ 20 คน น่าจะโค้ชให้เด็กได้ 20-30 คน
ส่วนเวิร์คชอปที่จัดขึ้น ถือว่าได้รับผลตอบรับที่ดีกว่าที่คาดไว้ เหมือนการวางโครงร่างหลักสูตรไว้แล้ว จึงคิดว่าถ้ามีหน่วยงานไหนมีความต้องการในลักษณะเดียวกัน น่าจะนำไปปรับใช้ทำซ้ำได้เรื่อยๆ
สำหรับคนที่สนใจเป็นอาสาสมัคร ณฤดีและจิรโรจน์ซึ่งช่วยเหลือโครงการเพื่อสังคมอีกหลายโครงการกล่าวถึงสิ่งที่ต้องเตรียมตัว โดยณฤดีกล่าวว่า ควรจัดสรรเวลาให้ได้ตามที่ตกลงและพิจารณาขอบเขตงานที่ตนรับผิดชอบได้ ขณะที่จิรโรจน์กล่าวว่า ต้องเปิดใจให้กว้าง เพราะสิ่งที่ได้คือการเรียนรู้
อีกบทบาทหนึ่งที่สำคัญในงานนี้เช่นกัน คือองค์กรตัวกลางที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงอาสาสมัครและผู้รับประโยชน์ จิรโรจน์ให้ความเห็นว่า จากที่ตนมีโอกาสจัดกิจกรรมพบว่ามีคนสนใจเป็นอาสาสมัครไม่น้อยแต่มีข้อจำกัดเรื่องเวลา ถ้าองค์กรตัวกลางสามารถออกแบบงานที่ยืดหยุ่นได้ จะเปิดโอกาสให้มีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมช่วยมูลนิธิต่างๆ ได้มากขึ้น รวมถึงการสื่อสารให้เห็นประโยชน์ที่เขาได้เข้ามามีส่วนร่วม นอกจากนี้ อาจต้องช่วยบริหารจัดการความคาดหวังของทั้งสองฝ่ายด้วย
ด้านณฤดี ให้ความเห็นเสริมว่า การที่องค์กรตัวกลางจะเข้าไปสร้างความร่วมมือกับภาคธุรกิจเพื่อเชิญชวนพนักงานในองค์กรมาเป็นอาสาสมัครผู้เชี่ยวชาญอาจต้องพิจารณาว่าองค์กรธุรกิจนั้นเคยดำเนินกิจกรรมอะไรมาบ้าง มีเป้าหมายระยะยาวอย่างไร และงานอาสาสมัครช่วยแก้ปัญหาเรื่องใดให้กับองค์กรธุรกิจนั้นได้บ้างหรือไม่ เพราะหากงานอาสาช่วยทำให้องค์กรธุรกิจไปถึงเป้าหมายหรือแก้ปัญหาให้องค์กรได้เช่นกัน จะถือเป็นการเติมเต็มซึ่งกันและกัน ยิ่งเพิ่มคุณค่าของงานอาสาได้มากยิ่งขึ้น