กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) เเละ สสส. ประกาศความร่วมมือเร่งจ้างงานคนพิการ 10,000 ตำแหน่ง ภายในปี  2559 พร้อมนำข้าราชการ-เอกชน-ภาคประชาชนแสดงเจตนารมณ์ให้คนพิการมีอาชีพ มีงานทำเต็มตามศักยภาพ เป็นงานที่มีคุณค่าได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน

เมื่อวัน ที่ 21 มิถุนายน 2559 ที่กระทรวงแรงงาน มีการแถลงข่าว “สานพลังประชารัฐ สร้างงาน สร้างอาชีพคนพิการ 10,000 ตำแหน่ง” พร้อมประกาศความร่วมมือระหว่างกระทรวงแรงงานและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)

หม่อมหลวง ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน

หม่อมหลวง ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานพร้อมสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานคนพิการเพื่อพัฒนาศักยภาพในการทำงานที่ดีขึ้น พร้อมอำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจในการปฏิบัติตามกฎหมายการจ้างงาน ตามมาตรา 33 สถานประกอบการสามารถจ้างงานคนพิการเข้าทำงานในสถานประกอบการนั้นๆ หรือจะจ้างงานให้คนพิการทำงานในชุมชนตามภารกิจของสถานประกอบการ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะตามนโยบายของสถานประกอบการก็ได้ ถือเป็นการจ้างงานตามกฎหมายแรงงาน และมาตรา 35 สถานประกอบการรวมถึงหน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจสามารถส่งเสริมให้คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการได้รับสัมปทาน จัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ จ้างเหมาบริการหรือจำหน่ายสินค้า ฝึกงาน ปรับสภาพแวดล้อมหรืออุปกรณ์เพื่อเอื้ออำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ จัดบริการล่ามภาษามือ หรือให้ความช่วยเหลืออื่นใด

โดยกระทรวงแรงงานมีกรมที่ทำงานเกี่ยวข้องกับคนพิการ 4 ส่วนคือ 1) กรมการจัดหางาน ดูแลการจัดหางาน จ้างงานสู่บริษัทเอกชน หรืองานสาธารณะ สนับสนุนตาม มาตร  33 และมาตรา 33  2) หน่วยงานประกันสังคม เพื่ออำนวยความสะดวกให้นายจ้างในการยื่นประกันสังคมตามมาตรา 33  3) กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ทำหน้าที่ฝึกอบรมอาชีพให้กับคนพิการเพื่อเตรียมความพร้อมให้เกิดทักษะ และฝีมือในการทำงานประกอบอาชีพ และ 4) กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ดูแลสิทธิให้กับคนพิการให้มีสิทธิเท่าเทียมกับคนทั่วไป

สิ่งสำคัญที่สุดในการปฏิบัติตามกฎหมายเราเน้นให้คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการมีอาชีพ ดังนั้นนายจ้างหรือหน่วยงานของรัฐไม่ต้องกังวลว่าการปฏิบัติตามกฎหมายจะเกิดความยุ่งยาก กระทรวงโดยอธิบดีกรมการจัดหางานได้มอบนโยบายการปฏิบัติงานให้สำนักงานจัดหางานเขตและจัดหางานจังหวัดแล้ว กระทรวงแรงงานพร้อมเดินหน้า เริ่มเดือน มิ.ย. 59 เพื่อเป้าหมายจ้างงานคนพิการ 10,000 ตำแหน่ง ภายในปี 2559 – 2560  ทั้งนี้ยังมีภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านส่งเสริมการมีงานทำของคนพิการต่างๆ เช่น มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม ฯลฯ พร้อมอำนวยความสะดวกให้ทุกสถานประกอบการที่สนใจขยายการจ้างงานและส่งเสริมอาชีพคนพิการ

นายไมตรี อินทุสุต ปลัดพม

นายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าว พม. มีหน้าที่ในการประสานนโยบายร่วมกับทุกกระทรวงทบวงกรม เพื่อให้คนพิการได้รับการศึกษา มีงานทำ ดำรงชีวิตอิสระ หรือเรียกว่ามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้กระทรวง พม. จะเน้นเรื่องการอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติตามกฎหมาย นอกจากนั้นเรายังมีศูนย์ฟื้นฟูอาชีพและศูนย์พัฒนาอาชีพสำหรับคนพิการทั่วประเทศ ที่จะได้ช่วยฝึกอาชีพและเตรียมความพร้อมให้คนพิการ ก่อนที่จะประกอบอาชีพหรือเข้าทำงานในสถานประกอบการ ,หน่วยงานของรัฐ หรือการทำงานในชุมชนเพื่อปฏิบัติภารกิจอันก่อให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชน สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือเราจะเร่งรัดการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีในการรับคนพิการเข้าทำงานในหน่วยงานของรัฐและเอกชน

ซึ่งจากข้อมูลของกรมส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการ ปี 2559  (ข้อมูล ณ 31 มี.ค. 59) พบว่า คนพิการวัยแรงงานมีจำนวน 748,941 คน แบ่งเป็นสัดส่วนคนพิการที่ประกอบอาชีพแล้ว 213,896 คน (ร้อยละ 28.56) คนพิการที่สามารถประกอบอาชีพได้ที่ยังไม่ได้ทำงานมีจำนวน 397,800 คน คิดเป็นร้อยละ 53.11 ของคนพิการวัยแรงงานทั้งหมด ส่วนคนพิการที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้เนื่องจากพิการมาก/ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ มีจำนวน 137,245 คน (ร้อยละ 18.33) ซึ่งตามกฎหมาย ได้กำหนดให้สถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไปต้องรับคนพิการเข้าทำงานในอัตราส่วนลูกจ้างต่อคนพิการ คือ 100 : 1  ทำให้จำนวนคนพิการที่สถานประกอบการต้องจ้าง มีจำนวน 55,283 ตำแหน่ง ในขณะที่สถานประกอบการสามารถจ้างงานคนพิการได้เพียง 34,383 ตำแหน่ง คิดเป็นร้อยละ 48 เท่านั้น ขณะที่ปี2558 มีเงินส่งเข้ากองทุนฯ กว่า 2 พันล้านบาท

การจัดงานครั้งนี้เป็นการสานพลังประชารัฐ และพลังแห่งความหวัง  ส่วนแรกพลังประชารัฐ หมายรวมถึง 7 ภาคส่วน คือภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคท้องถิ่น ภาควิชาการ สื่อมวลชน และภาคการเมืองที่จะต้องร่วมกันขับเคลื่อนงานเรื่องการจ้างงานให้เกิดผล ตามแนวทาง “สานพลัง- สร้างเครือข่าย- ขยายผล”  ในส่วนของพลังแห่งความหวังนั้น กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เน้น 3 เรื่องหลักๆ คือ 1. การจ้างงานผู้พิการร่วมกับภาคีต่างๆ  โดยจะมีกา2.การขับเคลื่อนอารยะสถาปัตย์เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนพิการทุกรูปแบบ และการสร้างสุนทรียะให้กับผู้พิการ

 

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการสสส

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. โดยแผนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ ได้สนับสนุนแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแบบครบวงจร: สุขภาวะจากการทำงาน ภายใต้มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม เพื่อส่งเสริมให้คนพิการได้รับการจ้างงาน และการประกอบอาชีพให้มีรายได้ สามารถใช้ชีวิตอย่างอิสระและพึ่งพาตนเองได้ โดย สสส.สนับสนุนโครงการนำร่องการจ้างงานคนพิการ จากปี 2558 มีบริษัทที่นำร่อง 20 บริษัท เกิดการจ้างงานคนพิการจำนวน 229 คน ในปี 2559 ถือว่าประสบผลสำเร็จ รวม 2 ปี มีสถานประกอบการเข้าร่วมทั้งสิ้น 89 บริษัท ได้ขยายโอกาสการจ้างงานและส่งเสริมอาชีพคนพิการเพิ่มเป็นจำนวน 1,277 คน ซึ่งกระจายการปฏิบัติงานอยู่ทุกภาคของประเทศ และพร้อมร่วมสนับสนุนและบูรณาการงานด้านคนพิการในมิติอื่นๆ ที่ สสส.ดำเนินการอยู่เพื่อขับเคลื่อนให้บรรลุผลสอดรับกับเป้าของกระทรวงแรงงาน และ กระทรวง พม. ที่ต้องการบรรลุเป้าหมายจ้างงานคนพิการร่วมกัน 10,000 ตำแหน่ง ในปีนี้

นายอภิชาติ การุณกรสกุล ประธานมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม กล่าวว่า จากการดำเนินแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแบบครบวงจร: สุขภาวะจากการทำงาน ในปี 2559 มีการจ้างงานคนพิการแบ่งเป็น การจ้างตามมาตรา 33 จำนวน 718 คน และสนับสนุนโครงการส่งเสริมอาชีพตามมาตรา 35 จำนวน 559 คน ทางโครงการฯ สามารถจัดหางานที่เหมาะสมให้กับคนพิการได้ดีขึ้นกว่าเดิมมาก เช่น ให้คนพิการทำงานงานช่วยสอนหนังสือในโรงเรียน ทำงานในโรงพยาบาล  ทำงานในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำงานพัฒนาชุมชนร่วมกับทีมพัฒนาชุมชนของบริษัท ฯลฯ และพบว่าคนพิการที่เข้าร่วมโครงการมีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนี้บริษัทที่เข้าร่วมโครงการ ก็รู้สึกพึงพอใจมากที่ได้ช่วยเหลือคนพิการและช่วยเหลือชุมชนไปพร้อมๆ กัน การจ้างงานคนพิการในชุมชนถือเป็นทางเลือกใหม่ในการที่จะพัฒนาศักยภาพคนพิการเพื่อสร้างโอกาสให้คนพิการได้เข้าสู่การจ้างงานโดยสถานประกอบการ เพื่อทำงานในชุมชนหรือองค์กรสาธารณประโยชน์ นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยโครงการฯ ดังกล่าวนี้จะดำเนินการควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมและพัฒนาให้คนพิการสามารถเข้าสู่การจ้างงานในระบบสถานประกอบการได้ในอนาคต

ด้านนายสุภรธรรม มงคลสวัสดิ์ เลขาธิการมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนา ตัวแทนเครือข่ายคนพิการ กล่าวว่า มูลนิธิพระมหาไถ่ฯ มีองค์กรด้านการส่งเสริมอาชีพคนพิการหลายหน่วยงานเข้ามาร่วมกันทำงานตามประกาศความร่วมมือนี้ ซึ่งล้วนมีประสบการณ์และเครือข่ายในการทำงานกว้างขวางทั่วประเทศ โดยทำหน้าที่เป็นคนกลางในการรับสมัครคนพิการที่ต้องการมีงานทำผ่าน “โทรศัพท์สายด่วนคนพิการหมายเลข 1479” ให้บริการช่วงเวลา 8.00 – 20.00 น. ทุกวันยกเว้นวันหยุดราชการ มีการคัดกรองและส่งเสริมให้คนพิการมีงานทำตามศักยภาพและความสนใจของคนพิการ พร้อมติดตามประเมินผลเพื่อให้แน่ใจว่ามีการปฏิบัติอย่างถูกต้องเป็นธรรม พัฒนาและค้นหาแนวทางในการทำให้คนพิการมีอาชีพที่มั่นคงกว้างขวางยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายระยะยาว คือ ทำให้คนพิการกว่า 3 แสนคนตามสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติ มีศักยภาพมีงานทำ