เมื่อเร็วๆ นี้มูลนิธิเพื่อคนไทยร่วมกับ บริษัท จีเอฟเค มาร์เก็ตไว้ส์ จำกัดได้เผยผลวิจัย “คนไทยมอนิเตอร์ 2557:เสียงเยาวชน” ซึ่งทำการสำรวจความคิดเห็นผู้ที่มีอายุ 15-24 ปีจำนวน 4,000 คนจากทั่วประเทศ มีเป้าหมายเพื่อสร้างเยาวชนที่มีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวม หรือ Active Youth ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย พบว่ามีจำนวนเยาวชน 597 คน หรือคิดเป็น 14.92% ที่มีจุดร่วมด้านการมีจิตสาธารณะ ต้องการพัฒนาชุมชนให้มีความเป็นอยู่และสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น กล้าคิด กล้าแสดงออก ติดตามสถานการณ์ข่าวสาร และทำกิจกรรมควบคู่การเรียน ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้กำลังเป็นที่ต้องการในสังคม

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาระบุว่า เยาวชนส่วนใหญ่ที่ตอบว่าพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดทิศทางและพัฒนาประเทศ แต่ยังมีความเชื่อว่าตนเองยังเด็กเกินไปที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง แน่นอนว่าความเชื่อเช่นนี้สามารถเปลี่ยนได้ หากพวกเขาได้เห็นตัวอย่างของคนวัยเดียวกันออกมาทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม หรือได้รู้จักองค์กรเพื่อสังคมซึ่งพร้อมเปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น

ในงาน “คนไทยขอมือหน่อย ปี 2” ซึ่งจัดขึ้น ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา นอกจากจะเป็นการรวมพลคนทำงานอาสาและองค์กรเพื่อสังคมกว่า 140 องค์กรแล้ว ยังเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับเด็กและเยาวชนที่มีความสนใจงานด้านสังคมให้เข้ามาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ โดยส่วนหนึ่งเป็นแนวทางให้ค้นหารูปแบบการช่วยเหลือและขับเคลื่อนสังคมตามความถนัดของตัวเอง ซึ่งจะช่วยทลายความเชื่อที่ว่าเยาวชนไม่สามารถนำการเปลี่ยนแปลงใดสู่สังคมได้

Gen A: จุดประกายคนรุ่นใหม่หัวใจอาสา

active-citizen-kmn-1

หัวข้อหนึ่งที่งานวิจัยคนไทยมอนิเตอร์ฯ กล่าวถึงคือ เยาวชนยังขาดความเข้าใจในหน้าที่ของพลเมืองดี โดยส่วนใหญ่ให้ความหมายของ “ความดี” ว่าจำกัดอยู่กับเรื่องของ “น้ำใจ” มากกว่าบทบาทด้านกิจกรรมเพื่อสังคม สอดคล้องกับสิ่งที่ “โครงการทูตความดีแห่งประเทศไทย หรือ Gen A (Generation Active)” มองเห็น โครงการนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกเยาวชนอายุระหว่าง 15-25 ปีให้เป็นพลเมืองที่มีจิตสาธารณะ ลุกขึ้นมาทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ ซึ่งดำเนินงานต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 แล้ว

สิทธิ วัฒนายากร ผู้ประสานงานโครงการทูตความดีฯ กล่าวว่า การแผ่ขยายความดีเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสังคมไทยในปัจจุบัน จากการทำงานร่วมกับเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้มาหลายปีพบว่า เยาวชนตื่นตัวกับงานเพื่อสังคมมากขึ้น ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดีด้วยว่าองค์กรเอกชนสมัยใหม่ก็ให้ความสำคัญกับผลงานเพื่อสังคมของนักศึกษาด้วยเช่นกัน

“เราเปิดรับสมัครเยาวชนทีมละ 5 คนทำงานจิตอาสาที่สร้างความเปลี่ยนแปลง เขาอาจจะเริ่มต้นจากชุมชนของเขา ที่ผ่านมาก็มีไปสร้างฝาย หรือจับกลุ่มกันไปเล่นดนตรีให้เด็กพิการซ้ำซ้อนฟัง แต่งเพลงฉ่อยพื้นบ้านต่อต้านคอรัปชั่น เป็นต้น ปีนี้รับ 20 โครงการ เรามีเวลาให้ 3 เดือนพร้อมเงินทุน 20,000 บาทให้น้องๆ ลงไปทำกิจกรรมให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โครงการที่ผ่านการคัดเลือกเป็นจิตอาสาต้นแบบได้รับถ้วยทูตความดี ส่งต่อความดีไปสู่ชุมชนอื่นๆ ได้”

“เราอยากให้เด็กที่มีความคิดดีๆ ออกมาแสดงศักยภาพ ซึ่งถ้าเรามีพื้นที่ให้เขามากพอก็จะได้นวัตกรรมสร้างสรรค์ที่มีประโยชน์มากๆ ซึ่งงานคนไทยขอมือหน่อยครั้งนี้ก็เป็นประโยชน์ เพราะได้เห็นการทำงานของคนทำงานอาสาด้านอื่นๆ ด้วย แต่ว่าเด็กวัยรุ่นก็ยังมาเดินชมงานน้อยอยู่ ในปีต่อๆ ไปถ้ามีเวทีให้เยาวชนมานำเสนอแนวคิดและความสามารถ แล้วมีองค์กรที่จะให้ทุนสนับสนุนมาในงานด้วย น่าจะดึงดูดความสนใจได้มากกว่านี้” ผู้ประสานงานโครงการทูตความดีฯ กล่าว

 

สยามอารยะ: สร้างเยาวชนต้นแบบด้านผู้นำ

active-citizen-kmn-3active-citizen-kmn-4
สมัชชาสยามอารยะ” เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มคนที่ต้องการเห็นประเทศก้าวหน้าอย่างยั่งยืนในทุกด้าน ทั้งด้านวัตถุ จิตใจ และคุณธรรม ทำกิจกรรมเพื่อสังคมตามความสนใจในเรื่องที่ตนเองมีความถนัด โดยมีภารกิจที่หลากหลาย มีเป้าหมายเป็นเด็กเยาวชนและประชาชนทั่วไปที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง

ภัทรา พิบูลย์ธนเกียรติ ผู้จัดการฝ่ายวิชาการ สมัชชาสยามอารยะ เล่าถึงภารกิจของสมัชชาด้านเด็กและเยาวชนว่า มีรูปแบบเป็นกิจกรรมค่ายเพื่อการพัฒนาศักยภาพผู้นำสำหรับเยาวชนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งจัดมาแล้ว 3 ครั้ง

“เรานำกิจกรรมไปเสนอในโรงเรียนที่สนใจอยากพัฒนาความเป็นผู้นำของเด็ก ผลที่ได้คือตัวเด็กเองมีการเปลี่ยนแปลง ตอนอยู่ในค่ายเขายังไม่รู้หรอกว่าอยากเปลี่ยนอะไร ต่อเมื่อเขาไปเจอปัญหาด้วยตนเอง จึงเป็นตัวจุดประกายให้เขาอยากเปลี่ยนแปลง และทำให้เขากลายเป็นหนึ่งในสมาชิกของสมัชชา เป็นพี่เลี้ยงค่ายในครั้งต่อไป หรือเด็กบางคนมาจากต่างจังหวัด เขาก็ไปริเริ่มกลุ่มใหม่และทำกิจกรรมพัฒนาท้องถิ่นที่เขาอยู่”

ผู้จัดการฝ่ายวิชาการ สมัชชาสยามอารยะ กล่าวอีกว่า ตลอดการดำเนินงาน 5 ปี พบปัญหาที่เกิดจากเยาวชนน้อยมาก ในทางตรงกันข้ามเด็กหลายคนที่ผ่านค่ายพัฒนาศักยภาพผู้นำ มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น เช่น จากเป็นคนชอบเก็บตัวก็ลุกขึ้นมาช่วยเหลืองานด้านจิตอาสามากขึ้น กล้าแสดงออกและเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในโรงเรียนหรือท้องถิ่น เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สมัชชาสยามอารยะพบในการทำงาน คือยังเป็นที่รู้จักน้อย จึงไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร ซึ่งภัทรามองว่า งานคนไทยขอมือหน่อยในครั้งนี้เป็นเสมือนเวทีที่ทำให้คนทั่วไปได้รู้จักว่ามีหน่วยงานที่ทำงานเพื่อสังคม “เรามองว่างานนี้มีประโยชน์ อย่างน้อยคนที่ทำงานด้านนี้ก็มีกำลังใจในการทำความดีต่อ เปิดโอกาสให้คนทั่วไปที่สนใจงานด้านนี้มาทำความรู้จัก ให้เขาเลือกว่าความสามารถที่เขามีจะพัฒนาหรือสร้างการเปลี่ยนแปลงใดได้บ้าง”

 

Gen V: จากงานภัยพิบัติ สู่การช่วยเหลือผู้พิการ

อีกหนึ่งกลุ่มเยาวชนที่มีกิจกรรมการทำงานเพื่อการมีส่วนร่วมที่น่าสนใจ ตั้งชื่อกลุ่มว่า Gen V for Disability” ที่รวมตัวกันเพื่อหวังจุดกระแสสังคมให้มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อผู้พิการโดยมีกิจกรรมด้านอาสาสมัครและการสื่อสารกับสังคม

ชูเวช เดชดิษฐรักษ์ หรือ เจ หัวหน้าโครงการ เล่าให้ฟังว่า Gen-V เป็นเครือข่ายของคนรุ่นใหม่ที่รวมตัวกันช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในปี 2554 หลังจากนั้นก็สนใจปัญหาของผู้พิการ จึงร่วมทำงานกับศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการพุทธมณฑล เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการออกสู่สังคม โดยมีอาสาสมัครที่ร่วมทำงานด้านต่างๆ เริ่มต้นจากนักศึกษาเทคนิคการแพทย์ ด้านกายภาพบำบัด และนักเคลื่อนไหวด้านอื่นๆ ตามความถนัดและสนใจ

“เรารับอาสาสมัครลงพื้นที่เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกและถอดบทเรียน บางคนได้แรงบันดาลใจในการลงพื้นที่ อาสาสมัครที่เรียนพยาบาลนำแนวคิดที่ได้จากค่ายไปต่อยอดในชุมชนของตัวเอง ซึ่งกลุ่มเป้าหมายของเรามีสองกลุ่มคือกลุ่มคนท้องถิ่นและชนชั้นกลางในเมือง ผมคิดว่างานคนไทยขอมือหน่อยปีนี้สามารถตอบโจทย์เรื่องการสื่อสารกับชนชั้นกลาง ผมเชื่อว่าการที่ชนชั้นกลางได้ศึกษาชีวิตคนชายขอบได้มากเท่าไหร่ ก็เป็นการสร้างพื้นที่ยืนให้คนชายขอบได้มากเท่านั้น การรวมกิจกรรมแบบนี้ เกิดประโยชน์ในการสื่อสาร สามารถทำให้เป็นเทรนด์ได้ การหวังผลเรื่องการเพิ่มจำนวนอาสาสมัครอาจวัดได้ยาก แต่ข้อดีที่ผมได้รับครั้งนี้คือ ได้มาเรียนรู้การทำงานขององค์กรอื่นๆ และงานด้านอาสาสมัครจำเป็นต้องมีนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาเพื่อจูงใจให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจกิจกรรมเพื่อสังคมมากขึ้น” ชูเวชกล่าวทิ้งท้าย

 

สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน : สื่อสร้างชุมชน

เมื่อโลกออนไลน์กลายเป็นสังคมของเยาวชน รูปแบบการสื่อสารที่เปลี่ยนไปทำให้เกิดช่องว่างระหว่างเด็กและสังคมที่แวดล้อม แต่หากมีกลุ่มคนที่ดึงให้พวกเขาเงยหน้ามองสิ่งรอบตัว และให้ตระหนักถึงความสำคัญของคนและชุมชน หน่วยงานนั้นคือ “สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.)” ที่ใช้ทั้งสื่อศิลปะ สื่อภูมิปัญญาที่เป็นบุคคล ให้เด็กรู้เท่าทันสื่อเพื่อเป็นภูมิคุ้มกัน ภูมิใจและเห็นคุณค่าในตนเอง

สมชาย รุ่งศิลป์ รองผู้จัดการฝ่ายวิชาการ สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน ให้ข้อมูลว่า สสย.มีแนวคิดสร้างพลเมืองเด็กในหลายแนวทาง เช่น เรื่องระเบียบวินัย การเคารพความแตกต่าง และจิตสาธารณะ ซึ่งนอกจากเด็กและเยาวชนแล้วยังเน้นไปที่ครอบครัวและชุมชนด้วย

“เราเน้นให้เด็กรู้เท่าทันสื่อ ให้เด็กเป็นฝ่ายผลิตสื่อเอง ใช้สื่อที่เด็กเข้าถึงง่ายอย่างหุ่นมือเข้ามาช่วย เช่น ให้เขาทำหุ่นมือ 2 ตัว ตัวแรกเก็บไว้เองอีกหนึ่งตัวจะนำไปบริจาคให้กับเด็กในชุมชนที่ขาดแคลน เราเน้นทำงานเชิงบวก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ถนนรองเมืองย่านหัวลำโพง เริ่มจากให้คนในชุมชนและเด็กที่เป็นอาสาสมัครลุกขึ้นมาทำศิลปะบนกำแพงใกล้กับสถานีรถไฟ โดยให้เด็กๆ ค้นหาของดีในชุมชน เช่น อาหาร ประวัติศาสตร์ ทำให้เขาพบคุณค่า เกิดความภูมิใจในตัวเอง จึงเกิดแนวคิดการสร้างชุมชนให้เป็นที่ยอมรับ แนวคิดเชิงบวกเปิดโอกาสให้เด็กได้คิดวิเคราะห์ และมีพลังสร้างสรรค์” รองผู้จัดการฝ่ายวิชาการ สสย. กล่าว

 

เยาววิทย์: โรงเรียนที่อบอุ่นยิ่งกว่าบ้าน

active-citizen-kmn-7active-citizen-kmn-8

เมื่อครอบครัวมีอิทธิพลสูงสุดทางความคิด และโรงเรียนก็คือสถานที่สำหรับพัฒนาตนเองให้รู้จักรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติ “โรงเรียนเยาววิทย์” จ.พังงา ภายใต้การดูแลของมูลนิธิชิลเดร้นส์ เวิลด์ อแคเดมี ฟาวเดชั่น (Children World Academy Foundation) จึงเป็นทั้งบ้านหลังใหญ่และโรงเรียนประจำสำหรับเด็กด้อยโอกาสทางสังคม เช่น เด็กกำพร้า ถูกทารุณกรรม และเด็กที่มีฐานะยากจน โดยมีจุดเริ่มต้นจากเหตุการณ์สึนามิ ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้มีเด็กจำนวนมากต้องกลายเป็นเด็กกำพร้า โรงเรียนเยาววิทย์จึงเกิดขึ้นในปี 2549

ผศ.ดร.กฤตินี ณัฏฐวุฒิสิทธิ์ นักวิชาการที่ร่วมเก็บข้อมูลวิจัย ผู้มีส่วนร่วมให้คำปรึกษาและบริหารโรงเรียนเยาววิทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันเยาววิทย์รับดูแลเด็ก 130 คน ตั้งแต่เด็กเล็ก 3-18 ปี เพราะต้องการหล่อหลอมวิธีคิดและทัศนคติที่ดีต่อสังคม เด็กๆ จะได้รับการดูแลจากคุณครูประจำชั้น ครูพ่อแม่ และอาสาสมัครจากนานาชาติ นอกจากนี้ยังได้ฝึกทักษะชีวิตเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริงและสามารถนำไปประกอบอาชีพได้ในอนาคต

“โรงเรียนของเรามีโรงแรมด้วย เด็กๆ จะได้ฝึกงานโรงแรม มีสวนเกษตรอินทรีย์ให้เขาประกอบอาชีพ และได้ฝึกฝนภาษาอังกฤษจากอาสาสมัครและนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชม แต่อาสาสมัครที่มาส่วนใหญ่จะมาอยู่ระยะสั้น เราจึงต้องการอาสาสมัครที่อยู่ได้ต่อเนื่องนานกว่า 6 เดือน เพราะต้องมาสอนและดูแลเด็กๆ จึงจำเป็นต้องมีทักษะด้านวิชาชีพด้วยจะดีมาก นอกจากอาสาสมัครแล้ว เยาววิทย์ยังขาดแคลนครูประจำ และยังต้องการผู้รับอุปการะเด็กเป็นรายบุคคลด้วย”

ผศ.ดร.กฤตินี กล่าวอีกว่า โรงเรียนเยาววิทย์มีรูปแบบการช่วยเหลือที่ชัดเจนคือ มอบความอบอุ่นและความรู้สึกปลอดภัยให้เด็กๆ เสมือนหนึ่งว่าเขาอยู่บ้านแต่ขณะเดียวกันก็ไม่ตัดขาดเขาออกจากครอบครัวที่แท้จริง การมอบโอกาสเช่นนี้จะปลูกฝังให้เด็กมีจิตสำนึกของการเป็นผู้ให้ด้วยไปในตัว

 

ยุวพัฒน์: การศึกษาสร้างโอกาส

active-citizen-kmn-1active-citizen-kmn-2

ด้วยความเชื่อมั่นในพลังของการศึกษา กว่า 20 ปีของ “มูลนิธิยุวพัฒน์” จึงมุ่งมั่นสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กๆ ที่ขาดโอกาสทั่วประเทศ มีเยาวชนที่ได้รับโอกาสแล้วกว่า 6,000 คน และเด็กเหล่านั้นก็กลายเป็นผู้มอบโอกาสให้กับคนที่ยังขาดโอกาสคนอื่นๆ ต่อไป ซึ่ง โมนา ศิวรังสรรค์ ผู้อำนวยการมูลนิธิยุวพัฒน์ กล่าวว่า ยุวพัฒน์มีพันธกิจหลักเพื่อสนับสนุนเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ให้มีโอกาสทางการศึกษา เพื่อให้เขาค้นพบศักยภาพตนเองและกลายเป็นประชากรที่มีคุณภาพ โดยการมอบทุนการศึกษาอย่างต่อเนื่องให้กับนักเรียนจนจบมัธยมปลายหรือเทียบเท่าผ่านโครงการ ส่งน้องเรียน สร้างเด็กดี นอกจากนี้ยังส่งเสริมความสามารถและปลูกฝังคุณธรรมให้กับเด็กๆ ผ่านการประกวดศิลปกรรมและวรรณกรรมยุวพัฒน์

“ในปีการศึกษา 2557 เรามีนักเรียนที่อยู่ในความดูแลของมูลนิธิ 1,900 คน ซึ่งช่องทางหนึ่งที่ทำให้โครงการส่งน้องเรียน สร้างเด็กดีมีทุนเพียงพอสำหรับเด็กๆ คือ ร้านปันกัน ซึ่งเป็นเหมือนแหล่งรวมน้ำใจที่เรารับแบ่งปันน้ำใจเพื่อเป็นสินค้าในร้านซึ่งขายในราคาเป็นมิตร ถ้าคุณเป็นลูกค้าของร้านปันกันก็เท่ากับได้สนับสนุนทุนการศึกษาให้กับเด็กๆ แล้ว แต่เนื่องจากเราให้ทุนการศึกษาน้องๆ ต่อเนื่องจึงต้องการการสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ คุณสามารถยื่นความจำนงที่จะแบ่งปันได้โดยเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ของมูลนิธิ หรือจะร่วมเป็นอาสาสมัครกับมูลนิธิฯ” ผู้อำนวยการมูลนิธิยุวพัฒน์ กล่าว

ในงาน “คนไทยขอมือหน่อย” ครั้งนี้ ไม่เพียงแต่มีการออกบูธและกิจกรรมแนะนำองค์กรด้านเด็กและเยาวชนเท่านั้น แต่ยังได้ปลุกพลังของเยาวชน เพื่อมาร่วมกันเปลี่ยนประเทศไทย เมื่อน้องๆ กลุ่มเยาวชนชุมชนพูนทรัพย์ เขตสายไหม มูลนิธิ ไว.เอ็ม.ซี.เอ. กรุงเทพฯ  นำโดยด.ญ.ศิริวิมล คงวิชา หรือน้องเบล  ด.ญ.ณัฐธิตา นิมนรัมย์ หรือน้องแพท และด.ญ.ธิติวรดา นิธุรัมย์ หรือน้องเลย์ เป็นตัวแทนเยาวชน กล่าวบนเวทีเปิดตัวโครงการปลุกพลัง เปลี่ยนไทย

น้องๆ ช่วยกันเล่าถึงโครงการบุญต่อบุญที่ได้รวมตัวกับเพื่อนๆ รวม 15 คน  ช่วยเหลือผู้สูงอายุในชุมชน โดยนำอาหารที่มีผู้มาทำบุญกับวัดศรีบุญเรือง ไปมอบต่อให้กับผู้สูงอายุที่ไม่มีคนดูแล โดยจัดใส่เป็นชุดๆ ไปเยี่ยมผู้สูงอายุแต่ละบ้าน รวมทั้งช่วยกันทำความสะอาดบ้านและดูแลผู้สูงอายุเหล่านั้น น้องๆ ได้สะท้อนความคิดให้เห็นว่า เยาวชนเช่นพวกตนก็สามารถช่วยเหลือสังคมได้

แม้ว่าความเป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวมอาจต้องอาศัยคุณสมบัติหลายองค์ประกอบแต่หากเยาวชนไทยเริ่มด้วยการมีจิตสำนึกของความเป็นพลเมืองที่ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม พวกเขาก็จะเติบโตเป็นต้นกล้าที่มีคุณภาพ มีภูมิคุ้มกัน เป็นประชากรที่มีจิตสาธารณะ ที่จะเพิ่มคุณภาพให้กับสังคม และนำการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีมาสู่ประเทศอย่างยั่งยืน