คุณเคยเห็นคนไร้บ้านนอนอยู่ริมถนนของเมืองไทยไหม

นี่คือหนึ่งในกลุ่มคนเปราะบางที่สุดของสังคมเรา ปัญหาของคนไร้บ้านไม่ใช่แค่ไม่มีที่อยู่อาศัย แต่ยังประกอบด้วยการขาดโอกาสอีกหลายมิติ หนึ่งในนั้นคือโอกาสในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ

เวลาเจ็บป่วย เราไปโรงพยาบาลเพื่อหาหมอ มีโอกาสพักฟื้นจนร่างกายหายดี แต่เรื่องง่าย ๆ ที่เราทำเป็นปกติ คือเรื่องยากเย็นของคนกลุ่มนี้ 

และนี่คือสิ่งที่ บริษัท สุขภาวะข้างถนน จำกัด ทีมบุคลากรสายสุขภาพมองเห็นและพยายามลงมือแก้ปัญหา พวกเขาเลือกเป็นจิ๊กซอว์เข้าไปเติมแต่ละส่วนที่ขาดหายบนเส้นทางสุขภาพของคนไร้บ้าน 

ลองทำความรู้จักกลุ่มคนเปราะบางที่อีกส่วนสำคัญของสังคมที่เราอยู่ และนั่งลงฟังเรื่องราวการต่อจิ๊กซอว์ขององค์กรแห่งนี้จาก หมอไก๋-นพ.อานนท์ กุลธรรมานุสรณ์ นักวิจัยระบบสุขภาพ และ เมย์-พิชญา ดังศิริแสงทองนักดนตรีบำบัด ผู้ร่วมทำให้สุขภาวะข้างถนนเป็นรูปร่างขึ้นมา

ทีมงานจิตอาสาที่กลายเป็นองค์กรดูแลสุขภาพคนไร้บ้าน

“ผมเป็นนักวิจัยของกระทรวงสาธารณสุข ทำงานวิจัยเกี่ยวกับระบบสุขภาพในกรุงเทพฯ เลยได้มาเกี่ยวข้องกับการจัดการเรื่องโควิด ทำงานร่วมกับทีม CoCare ที่รวมอาสาทางการแพทย์มาให้คำแนะนำสุขภาพและดูแลคนไข้โควิดในช่วงนั้น” หมอไก๋แนะนำตัวกับเรา ก่อนอธิบายเพิ่มว่างานนี้ทีม CoCare ทำงานร่วมกับมูลนิธิอิสรชนซึ่งดูแลเรื่องคนไร้บ้าน ทำให้เขาได้มีโอกาสลงพื้นที่ไปสัมผัสคนกลุ่มนี้ 

“ผมได้เห็นประเด็นความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสุขภาพ สำหรับคนไร้บ้าน เขามีปัญหาเรื่องบัตรประชาชน พอการรักษาผูกกับเลข 13 หลัก คนไร้บ้านที่ไม่มีบัตรก็เข้าถึงการรักษายาก นอกจากนั้น เขายังเข้าถึงหน่วยบริการสุขภาพยาก เพราะเวลาป่วยเล็กน้อยก็ไม่ค่อยอยากไป พอป่วยหนักก็ไม่มีเงินจ่าย”

แม้พ้นช่วงโควิด หมอไก๋ก็ยังมุ่งมั่นอยากแก้ปัญหานี้ต่อ เขาจึงชวนเพื่อน ๆ มาร่วมแจม โดยมีคนที่มาร่วมเป็นหัวเรือหลักคือเมย์ เพื่อนนักดนตรีบำบัดซึ่งรู้จักกันผ่านการทำค่ายอาสา และ หมอจ๊อบ-นพ.จักกาย เกษมนานา ซึ่งเริ่มทำเรื่องนี้อยู่กับมูลนิธิอิสรชนก่อนมาร่วมกลุ่มด้วย 

นี่คือจุดเริ่มต้นขององค์กรที่มีชื่อว่า บริษัท สุขภาวะข้างถนน จำกัด ที่ตั้งใจแก้ปัญหาคนไร้บ้านเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ

3 จิ๊กซอว์ที่เติมเต็มเส้นทางสุขภาพคนไร้บ้าน

อย่างแรกสุด ทีมสุขภาวะข้างถนนลงมือแก้ปัญหาการเข้าไม่ถึงการรักษา ด้วยสิ่งที่เรียกว่า Mobile Clinic หรือคลินิกเคลื่อนที่สำหรับคนไร้บ้านที่มีหมออาสาหมุนเวียนกันมาช่วยขับเคลื่อน

“เราเริ่มจากเดินตรวจคนไร้บ้าน ทำอยู่สักพักก็คิดว่าเปลี่ยนเป็นการทำจุดตรวจคนไข้ดีกว่า โดยไปอยู่ร่วมกับจุดแจกอาหารของมูลนิธิอิสรชนที่มาแจกทุกวันอังคาร บริเวณตรอกสาเก ถนนราชดำเนิน เพราะถ้าเราเดินตรวจ ในเวลาเท่ากัน เราจะได้จำนวนคนไข้น้อยกว่าเราไปอยู่ในจุดที่คนไร้บ้านมารวมตัวกันอยู่แล้ว เราตั้งใจว่าจะไปเปิดคลินิกเคลื่อนที่เดือนละ 2 ครั้ง มีหมอ พยาบาล และเภสัชกรอาสาไปช่วยกันรักษาคนไข้” หมอไก๋เล่าภารกิจแรกที่องค์กรของเขาลงมือทำ

นอกจากนั้น เพื่อช่วยให้คนไร้บ้านที่ค่อนข้างระวังตัวยินยอมเปิดใจ เล่าสิ่งที่ต้องการขอความช่วยเหลือ เมย์ได้นำดนตรีบำบัดมาใช้ควบคู่ไปกับการทำคลินิกเคลื่อนที่ด้วย

 “เราใช้ดนตรีเป็นสื่อกลาง เพราะคนกลุ่มนี้ค่อนข้างระวังตัวมาก ไม่ค่อยเปิดเผยข้อมูลหรือเล่าเรื่องให้ใครฟัง พอเราไปเล่นดนตรีก็จะมีกลุ่มคนที่แวะเวียนมาร้องเพลงด้วยกัน พอเขารู้สึกว่าเราร้องเพลงภาษาเดียวกัน เขาก็เริ่มเข้ามาพูดคุย พอเรารู้สึกว่าเริ่มคุยกับเขาได้ เราก็พอจะประเมินได้ว่าเขามีปัญหาอะไร ก็จะถามเขาว่าเป็นอย่างไรบ้างช่วงนี้ มีกังวลเรื่องอะไรไหม อยากให้ช่วยเหลือเรื่องอะไร”

ยังไม่หมดเท่านั้น บริษัท สุขภาวะข้างถนน จำกัด ยังพบอีกหนึ่งช่องว่างในระบบสุขภาพไทย 

“เราเห็นปัญหาอีกเรื่องหนึ่งที่ยากกว่าเรื่องการเข้าถึงบริการ” หมอไก๋บอกกับฉัน “ปัญหานั้นคือ คนไข้ที่จบการรักษาจากโรงพยาบาลเขาไม่มีที่ไป พอออกจากโรงพยาบาลก็ไปนอนข้างถนน แล้วก็ยิ่งป่วย หาข้าวกินไม่ได้ ทำงานก็ไม่ไหว ก็ต้องนอนอยู่อย่างนั้น”

องค์กรของหมอไก๋และเมย์จึงเข้าไปเติมเต็มช่องว่างนี้ ด้วยการหาทุนเช่าบ้านมาจัดทำบ้านพักพิงชั่วคราวทางการแพทย์ (Medical Respite Care) ให้กับคนไร้บ้าน 

ที่บ้านพักแห่งนี้ คนไร้บ้านจะได้นอนหลับพักผ่อนเต็มที่ มีอาหารให้กินอิ่ม 3 มื้อ และมีบริการตรวจสุขภาพเพื่อฟื้นฟูร่างกายให้กลับไปแข็งแรงเพียงพอที่จะกลับไปใช้ชีวิตได้เอง

“เราต้องการลดการกลับเข้าไปในโรงพยาบาลให้น้อยลง ลักษณะเหมือนเป็นการรักษาต่อเนื่องแล้วก็ฟื้นฟูสุขภาพให้เขาได้กลับไปใช้ชีวิตตามปกติ” หมอไก๋อธิบาย แล้วเล่าต่อว่าองค์กรของเขายังพยายามช่วยเหลือคนเหล่านี้จนสุดทาง 

“นอกจากการฟื้นฟู เราจะคุยกับคนไร้บ้านเรื่องการวางแผน กำหนดเป้าหมายว่าถ้าเขาหายดีแล้วอยากมีชีวิตแบบไหน แล้วเราก็ทำให้เขาไปอยู่ในตรงนั้นให้ได้ เช่น ถ้าเขาอยากได้งาน เราจะประเมินความเป็นไปได้ว่ามีงานไหนที่เหมาะสม และช่วยประสานเครือข่ายที่สนับสนุนด้านการทำงานเช่น โครงการจ้างวานข้า มูลนิธิกระจกเงา หรือถ้าเป็นคนที่อายุมาก มีข้อจำกัดในการหาอาชีพค่อนข้างเยอะ อย่างน้อยเราก็จะหาที่อยู่ปลอดภัยให้ผ่านการติดต่อไปยังหน่วยงานอย่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์หรือ พม. และศูนย์พัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านภายใต้มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย”

หากมองในภาพใหญ่ งานของ บริษัท สุขภาวะข้างถนน จำกัด คือการช่วยแก้ปัญหาในมิติสุขภาพให้คนกลุ่มหนึ่งที่ไม่มีบ้านอยู่อาศัย ตั้งแต่เพิ่งเริ่มป่วย หลังได้รับการรักษา จนถึงช่วงที่จะก้าวกลับไปใช้ชีวิต 

แต่เมื่อซูมลงมาใกล้ นี่คืองานเยียวยาฟื้นฟูมนุษย์ที่ไม่ได้ใช้เพียงทักษะทางการแพทย์เท่านั้น แต่ยังต้องใช้หัวใจ ใช้ความเข้าใจเพื่อนมนุษย์อย่างมาก 

“มีเคสหนึ่งที่ทำให้เรามีกำลังใจเดินต่อ เป็นพี่คนไร้บ้านที่มากรุงเทพฯ ตั้งแต่อายุ 17 เพราะอยากหางานทำช่วยเหลือครอบครัว แต่พอมาถึงก็โดนขโมยกระเป๋าตั้งแต่ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง บัตรประชาชนหายตั้งแต่วันนั้น เขาก็สู้ชีวิตต่อมาด้วยตัวเอง แล้วพอกลายเป็นคนไร้บ้าน โทรศัพท์ก็มักจะหาย สุดท้ายก็เลยขาดการติดต่อกับครอบครัว จน 30 ปีให้หลัง การอยู่ข้างถนนทำให้เขาดูแลเรื่องโภชนาการได้ไม่ดี เลือกกินไม่ได้ จนเป็นเบาหวานหนัก มูลนิธิอิสรชนไปเจอและประสานต่อมาหาพวกเรา ตอนแรกพี่คนนี้ปฏิเสธการรักษา เขายอมแพ้แล้ว คิดว่ายอมตายข้างถนนนี่แหละ ไม่อยากเป็นภาระให้คนอื่น แต่ทางมูลนิธิอิสรชนก็ตามตื๊อจนเขายอมไปหาหมอ แล้วพอมาอยู่กับเรา เขาก็มีแรงในการดูแลตัวเอง ขณะที่ทางอิสรชนก็ดำเนินการเรื่องสิทธิ ทำบัตรประชาชนให้ใหม่ จนเขาได้บัตรประชาชน แล้วก็ได้เจอพี่ชาย ได้กลับไปช่วยพี่ชายทำงาน” เมย์เล่าเคสคนไร้บ้านที่ประทับอยู่ในใจให้ฉันฟัง

หลังฟังเรื่องราวเหล่านี้ ฉันสัมผัสได้ว่า ไม่มีใครที่จู่ ๆ ก็นึกอยากออกมาใช้ชีวิตริมถนน และการไร้บ้านไม่ใช่เรื่องบังเอิญ

“ส่วนใหญ่คนจะคิดว่าคนไร้บ้านข้อจำกัดเยอะ ขี้เกียจ ไม่ทำงาน แต่จริง ๆ เขาต้องการมีชีวิตที่ดีขึ้น เขาเลยมาหางานในเมือง แต่มันไม่ได้สวยงามอย่างที่คิด” เมย์อธิบายต่อ ขณะที่หมอไก๋เสริมว่า คนไร้บ้านคือตัวสะท้อนปัญหาใหญ่ของบ้านเมืองเรา

“ถามว่าจำนวนคนไร้บ้านในเมืองไทยเยอะมั้ย ก็ไม่เยอะ ประมาณ 2,000 – 3,000 คน แต่ถามว่าต้องดูแลไหม ก็ต้องดูแล เพราะเขาคือผลผลิตของระบบที่ทำให้คนมีความเหลื่อมล้ำเยอะ เป็นกลุ่มคนที่เจอผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในสังคมไทย เป็นคนที่ย้ายมาอยู่ในเมือง ตัดขาดความสัมพันธ์อื่นในชีวิตไป สุดท้ายก็ไม่มีที่พึ่ง ภาครัฐก็อาจพึ่งได้ไม่เต็มที่ ทำให้ต้องมาไร้บ้านแบบนี้” 

องค์กรที่ตั้งใจเติบโตและเปลี่ยนแปลงระบบ

หลังลงมือช่วยแก้ปัญหาสุขภาพให้คนไร้บ้านมาเกือบ 2 ปี บริษัท สุขภาวะข้างถนน จำกัด มีคลินิกเคลื่อนที่ซึ่งเหล่าคุณหมออาสาแวะเวียนมาช่วยเต็มอัตราทุกครั้ง ดูแลสุขภาพคนไร้บ้านได้คราวละ 20 – 30 คน 

ขณะที่ดนตรีบำบัดได้ขยับขยายไปสู่การร่วมงานกับมูลนิธิกระจกเงา โดยนำดนตรีบำบัดไปช่วยให้กลุ่มผู้สูงอายุในโครงการจ้างวานข้าได้มีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น 

ส่วนบ้านพักพิงชั่วคราวทางการแพทย์ที่เริ่มหลังเพื่อนนิดหน่อยก็ขยายพื้นที่ จากบ้านหลังเล็กที่มีแค่ห้องเดียว เพิ่มมาเป็น 3 ห้องแล้ว โดยในช่วงเวลา 1 ปี ได้ช่วยฟื้นฟูคนไร้บ้านไปแล้วประมาณ 16 ราย

 ในอนาคต หมอไก๋และเมย์ตั้งใจให้ บริษัท สุขภาวะข้างถนน จำกัด เติบโตต่อไป โดยฝั่งหนึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดรับเงินทุนจากทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อน พร้อมกับที่อีกฝั่งเป็น Social Enterprise นำรายได้มาช่วยให้คนไร้บ้านที่อยู่ในบ้านพักพิงได้มีรายได้ เหมือนเวลาคนทั่วไปนอนโรงพยาบาลแต่ทำประกันก็ยังได้เงินชดเชย ไกลกว่านั้น พวกเขาตั้งใจผลักดันให้ทางแก้ปัญหาที่ลงมือทำอยู่อย่างบ้านพักพิงกลายเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายภาครัฐ

“ภาครัฐมักพูดถึงประชากรในภาพรวม แต่ประชากรกลุ่มเฉพาะมีความต้องการด้านสุขภาพเยอะกว่าคนทั่วไป ตอนนี้ระบบของรัฐจัดให้ทุกคนเท่ากันโดยไม่ได้คำนึงถึงคนที่อยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ขณะที่ผมมองว่าภาครัฐควรคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ด้วย” หมอไก๋กล่าว

ที่สุดแล้ว ปัญหาเรื่องคนไร้บ้านเป็นเรื่องซับซ้อน และอาจไม่หายไปได้รวดเร็วแบบข้ามคืน แต่ทีมสุขภาวะข้างถนนบอกเราว่า นี่คือปัญหาที่ต้องเริ่มแก้กันตั้งแต่วันนี้

“บางทีเราเห็นว่าปัญหาหนึ่งใหญ่มาก แล้วเราก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไรดี แต่ถ้าเรามัวคิดแล้วไม่ลงมือ บางทีเราก็ไม่รู้หรอกว่าต้องทำอะไร อย่างพวกเราในช่วงแรกก็ทำสิ่งที่ง่ายที่สุดคือการออกตรวจคนไข้ แล้วจากจุดนั้น เราก็ได้เรียนรู้ว่ามีประเด็นปัญหาอะไรอยู่บ้าง แล้วเลือกที่จะแก้ปัญหาในจุดที่เราควรแก้ที่สุดได้” หมอไก๋ทิ้งท้าย 

ที่มา : https://readthecloud.co/homeless-sookaphawa-roadside/