เพราะ “ชุมชน” ล้ำ
จึงปิดจบ “ความเหลื่อมล้ำ” ที่ “ฐานราก” ?

คำกล่าวที่ว่า “ประวัติศาสตร์ไม่เคยซ้ำรอยเดิม” ฟังแล้วให้ความหวัง แต่มันจะเป็นไปได้จริงๆ หรือ ถ้าเรื่องยากๆ อย่าง “ปัญหาความเหลื่อมล้ำ” ในสังคมไทย จะปิดจบได้จริงและยั่งยืน

การที่จะดูแลสังคมให้ทุกคนมีความสุขในชีวิตเป็นภาระที่ยิ่งใหญ่และยากที่จะเป็นไปได้

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กล่าวเปิดประเด็นไว้ในงานปาฐกถาไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม หัวข้อ โอกาสอนาคตของการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคม เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ก่อนอื่นจะต้องพูดความจริง ไม่เช่นนั้น จะไม่สามารถตอบโจทย์สำคัญของประเทศได้ นั่นคือ เรากำลังสร้างภาพว่า ประเทศไทยมีความสำเร็จในการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ จากดัชนีจินี่ที่ดีขึ้นตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ด้วยจำนวนครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนที่ลดลงทุกปี จาก 4 ล้านครัวเรือน เหลือเพียง 1 ล้านครัวเรือน !

“แต่สิ่งนี้ คือภาพลวงตาของความสำเร็จ เพราะความจริงแล้วนี่เป็นสิ่งที่รัฐบาลอุ้มไว้”

“อุ้ม” แบบไหนหรือ ? ดร.กอบศักดิ์แกะเปลือกของปัญหาให้เห็นถึงแก่นว่า รัฐบาลอุ้มด้วยการให้เงินสนับสนุนคนไทยทุกคนๆ ละ 1 พันบาท หรือเกือบ 3 พันบาทตามแนวคิดบำนาญถ้วนหน้า นั่นหมายความว่า รัฐบาลจะต้องใช้เงินมากถึง 2.4 ล้านล้านบาทต่อปี หรือเกินครึ่งหนึ่งของงบประมาณทั้งหมด

การลดความยากจนบนพื้นฐานของการอุ้มมันใช่ทางออกหรือไม่ที่สำคัญยากที่จะเป็นไปได้

ดังสมการ 66* 2,997 *12 = 2,373,624 ล้านบาท (คนไทย 66 ล้านคน X เงินช่วยเหลือ 2,997 บาทต่อคน X 12 เดือน)

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขที่น่ากังวลมากที่สุดกลับเป็น “64 เปอร์เซ็นต์” ของคนไทย 66 ล้านคนที่มีหัวหน้าครัวเรือนเป็น “ผู้สูงอายุ” ซึ่งยากที่จะมีรายได้ในอนาคต นั่นหมายความว่า รัฐบาลจะต้องแจกต่อไปอีก 10 – 20 ปี หรือตราบเท่าที่จะมีชีวิต

หากอนาคตประเทศไทยยังคงเดินบนเส้นทางนี้ สุดท้ายรัฐบาลจะอุ้มไม่ไหว และจะนำไปสู่ “การตกหลุมพรางเชิงนโยบาย” แบบเดียวกับ “สหรัฐอเมริกา”

ที่จัดเต็มเรื่องรัฐสวัสดิการดูแลประชาชนแต่กลับเต็มไปด้วยปัญหาไม่จบ ไม่สิ้น ข้อมูลระบุว่า ประชากรอเมริกันกว่า 200 ล้านคนอยู่ใต้เส้นความยากจนและประมาณครึ่งหนึ่ง มีรายได้แบบเดือนชนเดือน

ล่าสุด คาดการณ์ว่า ภายในปี 2573 สหรัฐอเมริกาจะต้องใช้เงินเพื่อการนี้สูงถึง “ครึ่งหนึ่ง” ของงบประมาณประจำปี และมีแนวโน้มเพิ่มเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ในปีต่อๆ มา

แล้วอะไรคือทางออก ไม่ให้ประเทศไทยตกหลุมพรางนี้?

สำหรับดร.กอบศักดิ์ เขาตอบอย่างไม่ลังเลว่า นี่เป็นช่วงเวลาที่ใช่ โอกาสกำลังมา เพราะถ้าพูดเรื่องนี้เมื่อ 10 ปีก่อนคงไม่เห็นความหวัง แต่ ณ วันนี้พร้อมมากสำหรับประเทศไทยที่จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้วยพลังของ “ชุมชน” ดังตัวอย่างความสำเร็จและกลไกหรือเครื่องมือการลงทุนเพื่อสังคมที่มีให้เห็นมากมาย

ดร.กอบศักดิ์ นักเศรษฐศาสตร์ผู้ผ่านงานทั้งภาครัฐ ภาคการเมือง ภาคเอกชน มาอย่างเจนจบบอกว่า ตำแหน่ง “ประธานสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน” หรือ “พอช.” นับเป็นความภูมิใจสูงสุดของชีวิต เพราะทำให้เขาค้นพบว่า ประชาชนคนธรรมดานั้น มีศักยภาพยิ่งใหญ่ชนิดที่สามารถลุกขึ้นมาทำสิ่งที่ impossible ให้เป็นไปได้ ด้วยการรวมพลัง ทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย เกิดเป็น “ชุมชนเข้มแข็ง”

งานของพอช. คือการสร้างผู้นำชุมชนซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงเมื่อมีผู้นำก็จะมีเครือข่ายตามมาผู้นำชุมชน 1 คนมีค่าระดับพันล้านถ้าเค้าทำได้ก็จะเป็นตัวคูณในการสร้างองค์กรชุมชนที่พึ่งตนเองได้ขยายเป็นเครือข่ายที่หลากหลายทั้งสถาบันการเงินชุมชนสวัสดิการชุมชนร้านค้าชุมชนวิสาหกิจชุมชนป่าชุมชนรวมถึงศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก

ยกตัวอย่างการจัดสวัสดิการชุมชนน่าอัศจรรย์หรือไม่ที่ประเทศไทยตอนนี้มีกองทุนสวัสดิการชุมชนที่หมายถึงเงินของประชาชนสะสมเก็บออมกันมาต่อเนื่องจนวันนี้มีเงินกองทุน (สะสม) มากกว่า 2.13 หมื่นล้านบาท (21,353,537,123 บาท) จากทั้งหมดเกือบ 6,000 กองทุนทั่วประเทศทำให้แต่ละชุมชนมีทุนไปบริหารจัดการดูแลสวัสดิการแก่สมาชิกกว่า 6.77 ล้านคนเป็นกลไกช่วยเหลือกันเองในด้านต่างๆตั้งแต่เกิดจนตายการเผชิญภัยพิบัติโรคอุบัติใหม่ปัญหาหนี้สินที่ดินหลุดมือไปจนถึงปัญหาไร้บ้านฯลฯและขยายผลเป็นโครงการต่างๆอีกจำนวนมาก

ทั้งหมดนี้ คือ การปลดปล่อยพลังของชุมชนในการยืนบนขาของตัวเองอย่างมีศักดิ์ศรี วิธีนี้อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ วางแนวทางไว้ตั้งแต่สมัยท่านยังทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย แล้วอาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม มาสานต่อ

“ถ้าเราทำตามแนวทางที่ท่านวางไว้ สร้างผู้นำชุมชน สร้างองค์กรชุมชนเข้มแข็งแล้วรวมพลังกัน ผมเชื่อว่าจะสามารถเปลี่ยนชีวิตพี่น้องประชาชนจำนวนมากแล้วจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของประเทศอย่างยั่งยืน”

แล้ว “เอกชน” จะมีบทบาทอย่างไร ได้บ้าง ?

วนหลูบกลับมาที่ภาพลวงตาของความสำเร็จสำหรับภาคเอกชน นั่นคือ การใช้งบประมาณในการทำกิจกรรม CSR จำนวนมากที่ไม่เกิดผล ไม่ต่างจากการเทเงินทิ้งน้ำ ด้วยสาเหตุเพราะทำกับ “คนที่ไม่ใช่”

“พอช.จะเป็นกลไกให้บริษัทเอกชนและผู้นำชุมชนที่เข้มแข็งหากันจนเจอ”

ประการต่อมา ภาคเอกชนจำเป็นจะต้องปรับมุมคิดใหม่ในเรื่องเป้าหมายงาน แทนการดูแลโจทย์สังคมในระดับองค์กร เปลี่ยนมาเป็นโจทย์สังคมในระดับประเทศ เพราะนอกจากจะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงประเทศแล้ว สิ่งนี้ยังเป็นโอกาสในทางธุรกิจของภาคเอกชนด้วย

ตัวอย่างกลไกการลงทุนเพื่อชุมชนและสังคมที่โดดเด่น และเหมาะสำหรับองค์กรภาคเอกชนอย่างยิ่ง นั่นคือ “มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคม” โดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่ให้แรงจูงใจเป็นสิทธิและประโยชน์ทางภาษีแก่ภาคเอกชนที่เข้าร่วมมาตรการนี้จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลระยะเวลา 3 ปี วงเงิน 200 เปอร์เซ็นต์ของเงินสนับสนุนทำโครงการเพื่อสังคมกับภาคชุมชนกลุ่มต่างๆ

ยัง..ยังไม่พอ “จะดีกว่ามั้ย ถ้าภาคเอกชนจะทำงานเพื่อสังคมร่วมกันในเป้าหมายที่โฟกัสร่วมกัน” ดร.กอบศักดิ์กล่าว

ยกตัวอย่าง “โครงการพัฒนาศักยภาพเด็กปฐมวัย” หรือ ICAP มูลนิธิยุวพัฒน์ ที่กระจายอยู่กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ณ วันนี้ขยายผลไปแล้วกว่า 60 ศูนย์ และปีนี้จะทำให้ครบ 100 ศูนย์ ขณะที่ประเทศไทยมีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เกือบ 1,000บริษัท ถ้าจะมีบริษัทเอกชนแต่ละจังหวัดรับไปดูแล 1 ศูนย์ด้วยงบประมาณเพียง 60,000 กว่าบาทต่อปีผ่านมาตรการบีโอไอ เงินที่ได้คืนจากมาตรการนี้ เอกชนสามารถแบ่งครึ่งใช้สำหรับดำเนินการโครงการเพื่อสังคมต่อเนื่องในปีต่อไปและอีกครึ่งคืนกลับบริษัท และถ้าทำศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ ต่อเนื่องทุกปีๆ ละ 1,000 โครงการ ประเทศไทยจะเปลี่ยนไปอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

ด้วยการทำโครงการที่ใช่ ใช้เงินจำนวนเล็กๆ แล้วทำพร้อมๆ กันจำนวนมาก และขับเคลื่อนโดยอาศัยพลังของคนที่เหมาะสม เป็นต้นว่า รัฐบาลแก้ไขกฏเกณฑ์ที่เอื้อให้เกิดการขับเคลื่อน ราชการดูแลการจัดสรรงบประมาณ เอกชนรับเงินมาทำงานร่วมกับโครงการที่สร้างผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยึดโยงกับชุมชนคนฐานราก

“นี่เป็นนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ของบีโอไอ ขออย่าให้หายไปนะครับ เพราะลึกๆแล้วโครงการนี้เป็นการเบียดงบประมาณรัฐมาอยู่ในมือเอกชน แล้วทำโครงการเพื่อชุมชนด้วย productivity ที่ใช่ ด้วยความรู้ที่ใช่ ทำแบบ collective ทั้งหมดนี้จะนำไปสู่ทางออกที่ยั่งยืน เพราะเป็นการสร้างความเข้มแข็งที่ฐานราก หรือ strength from Bottom ไม่ใช่ strength from the TOP ที่ทำกันมามากแต่ไม่สำเร็จ”

หากทำให้ชุมชนสามารถยืนด้วยตนเองได้ ก็จะกลับมาที่สมการใหม่ ที่มีความเป็นไปได้

10* 6,000*12 = 720,000 (10 ล้านคนที่ลำบากจริง X เงินช่วยเหลือ 2 เท่าให้อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี X12 เดือนหรือ 1ปี จะใช้งบประมาณ 7.2 แสนล้านบาท )

นี่คือการอุ้มอย่างมีศิลปะ

เพราะสุดท้ายรัฐบาลทั้งโลกต่างมีเงินจำกัด การมุ่งหน้าจัดสวัสดิการเพื่อทุกคนย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าชุมชนได้รับการเสริมพลัง และมีกลไกการสนับสนุนอย่างเป็นระบบก็จะปลดปล่อยศักยภาพพวกเขาได้ จะทำให้ภาระการอุ้มเหลือเฉพาะคนที่จำเป็นจริงๆ ทั้งหมดนี้นำไปสู่การพัฒนาที่แท้จริง แม้แต่อเมริกายังทำไม่สำเร็จเลย

“ถ้าเราทำเรื่องนี้ได้ ประเทศไทยจะเป็นต้นแบบของโลก”

ที่มา : https://thaipublica.org/2024/07/kobsak-pootrakool-solution-to-poverty-problem/