“สพฐ.” จับมือ “มูลนิธิยุวพัฒน์” ขยายผลกลไก “ร้อยพลังการศึกษา” ลดเหลื่อมล้ำช่วยเด็กไทยรอบด้าน

ปรากฏการณ์ใหม่วงการศึกษาไทย เมื่อกลไกภาครัฐโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ (MOU) กับกลไกภาคประชาชนโดยมูลนิธิยุวพัฒน์ เพื่อขยายผล 9 เครื่องมือภายใต้ “โครงการร้อยพลังการศึกษา” นำร่องปีแรกกับกว่า 500 โรงเรียน และจะขยายผลต่อเนื่องต่อไป เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้

วันที่ 20 พฤษภาคม 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. มอบหมายนางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. ร่วมลงนามในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ (MOU) โครงการร้อยพลังการศึกษา ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กับ มูลนิธิยุวพัฒน์ เพื่อร่วมมือกันส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนในประเทศไทยได้รับการสนับสนุนรอบด้าน โดยมีผู้บริหารของ สพฐ. ผู้บริหารและผู้แทนจากมูลนิธิยุวพัฒน์ ร่วมลงนาม พร้อมด้วยผู้อำนวยการสำนักที่เกี่ยวข้อง และบุคลากรของทั้งสองหน่วยงานร่วมเป็นสักขีพยานในพิธี ณ มูลนิธิยุวพัฒน์ อาคารพรีเมียร์ คอร์เปอเรท ปาร์ค กรุงเทพมหานคร

โดยสาระสำคัญของบันทึกความเข้าใจความร่วมมือครั้งนี้ ได้ระบุถึงเป้าหมายและขอบเขตความร่วมมือ เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนในประเทศได้รับการสนับสนุนรอบด้าน ประกอบด้วย ด้านโอกาสเข้าถึงการศึกษา ได้แก่ โครงการทุนการศึกษาและการประคับประคอง (มูลนิธิยุวพัฒน์) ด้านคุณภาพการศึกษา ได้แก่ โครงการสื่อดิจิทัลวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ โครงการสื่อดิจิทัลวิชาภาษาอังกฤษ โครงการครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง และโครงการพัฒนาศักยภาพเด็กปฐมวัย (ICAP) ด้านทักษะชีวิตและคุณธรรม ได้แก่ โครงการแนะแนวรุ่นใหม่ โครงการดูแลนักเรียนผ่านการบูรณาการด้านจิตวิทยาสังคม และโครงการโรงเรียนคุณธรรม และด้านภาวะโภชนาการ ได้แก่ โครงการ FOOD FOR GOOD ที่ผ่านการทดลองใช้และดำเนินการจริงในโรงเรียนเครือข่ายของมูลนิธิยุวพัฒน์มากกว่า 1,000 โรงเรียนทั่วประเทศ

ทั้งนี้ จากข้อมูล ณ ปี 2566 พบว่า มีจำนวนนักเรียนกว่า 300,000 คน ที่ได้รับประโยชน์จากการดำเนินการนี้ นับได้ว่าเป็นนวัตกรรมด้านการศึกษาที่ริเริ่มและร่วมดำเนินการโดยหลายภาคส่วน ทั้งภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาครัฐ จึงขยายผลสู่โรงเรียนต่างๆ ในสังกัด สพฐ. ให้สามารถเข้าถึงเด็กและเยาวชนจำนวนมากขึ้น เป็นการส่งเสริมให้นักเรียนมีเป้าหมายชีวิต สุขภาวะที่ดี และได้รับการพัฒนาอย่างรอบด้าน ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. รวมถึงนโยบายและจุดเน้นของ สพฐ. ที่ต้องการยกระดับการศึกษาของประเทศไทย ให้เด็กไทยทุกคนมีศักยภาพ มีทักษะที่จำเป็นในการใช้ชีวิต และเป็นกำลังสำคัญของประเทศต่อไป

ที่มา : https://www.obec.go.th/archives/1008960