ในสายตาของบางคน การทำงานเพื่อขับเคลื่อนสังคมอาจเป็นงานที่หนักหนาและน่าเหนื่อยใจไม่น้อย เพราะกว่าจะเห็นผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลงสักทีก็ต้องใช้เวลามหาศาล ถึงอย่างนั้น ความหวังว่าจะเห็นสังคมที่ดีกว่าเดิมนั้นเป็นแสงสว่างส่องใจให้ทำต่อไป อีกสิ่งที่ปลุกไฟคือการได้เห็นคนอื่นๆ ทำงานขับเคลื่อนเคียงข้างกัน
เป็นอีกครั้งที่งาน Good Society Day ได้เกิดขึ้น หลังจากที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2556 รวบรวมคนทำงานภาคสังคมหลากหลายมิติกว่า 350 ภาคี ทั้งคนทำงานด้านการศึกษา สิ่งแวดล้อม ธรรมาภิบาล และสาธารณสุข โดยในปีนี้มาในคอนเซปต์ ‘Connect The Good Dots งานของคนเพื่อสังคมที่ไม่ขอจมอยู่กับปัญหา’ ด้วยเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่และยั่งยืนจะมาจากการรวมพลังของจุดเล็กๆ จำนวนนับไม่ถ้วนที่ช่วยกันสร้างผลกระทบในวงกว้าง
ในงานมีทั้งนิทรรศการ เวิร์กช็อป และเวทีทอล์กน่าสนใจ ซึ่งหนึ่งในไฮไลต์ที่เราอยากหยิบมาบอกเล่า คือเซสชั่น Rising Star Changemaker ซึ่งรวมตัวคนทำงานรุ่นใหม่ที่ลุกขึ้นมาสร้างบางสิ่งบางอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น
และนี่คือ 5 คนรุ่นใหม่ที่น่าจับตา ทุกคนต่างมาเล่าความสนใจที่นำไปสู่การขับเคลื่อน รวมถึงเครื่องมือและวิธีการที่พวกเขาใช้เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง ซึ่งล้วนแต่จุดประเด็นบางอย่างให้เราได้ฉุกคิดและอยากเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆ กับพวกเขา
ธนิสรา เรืองเดช คือผู้ร่วมก่อตั้ง WeVis เว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการเมืองและการเลือกตั้ง ซึ่งก่อตั้งครั้งแรกเมื่อ 5 ปีก่อน หากจะให้นิยาม เธอบอกว่า WeVis ไม่ต่างอะไรจาก ‘เด็กขี้สงสัย’ ที่ตั้งคำถามกับทุกสิ่งทุกอย่างในสังคมรอบตัว ตั้งแต่เรื่องการศึกษา สิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการเมืองในสภา
ด้วยความที่เป็นเจเนอเรชันที่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีและข้อมูล ธนิสรากับเพื่อนมองว่าเทคโนโลยีสามารถพัฒนาเป็นเครื่องมือในการจัดการข้อมูลเพื่อแก้ปัญหาสังคม มากกว่านั้นคือมันสามารถสร้างสังคมที่หวังและฝันได้ พวกเขาจึงรวมตัวกันเพื่อก่อตั้งสิ่งที่เรียกว่า ‘เทคโนโลยีภาคประชาชน’ ขึ้นมา
“กลุ่ม WeVis ไม่ได้ใช้ความหวังในการสร้างอะไรบางอย่าง แต่เราใช้ 3 สิ่งในการทำงานเพื่อขับเคลื่อนสังคมที่อยากเห็น นั่นคือหนึ่ง-ความกลัวที่จะหมดหวัง แม้ความหวังเราจะเป็นแสงเทียนเล็กๆ แต่เราเชื่อว่าถ้าเรามารวมตัวกัน แสงเทียนเล็กๆ เหล่านั้นมันยังมีแสงสว่างให้เรามีหวังต่อในสังคมนี้ได้ สอง-คือเราขับเคลื่อนด้วยความสงสัยและหงุดหงิดใจ เราเหมือนเด็กรุ่นใหม่ที่ใครหลายคนบอกว่าหงุดหงิดกับทุกสิ่งรอบตัว แต่การบ่นของเราจะใช่ไม่บ่นอย่างเดียว แต่เราจะลงมือทำอะไรสักอย่าง สาม-คือการลงมือทำและหาแนวร่วม”
โปรเจกต์ของ WeVis มีหลากหลายทีเดียว โดยโปรเจกต์แรกคือแพลตฟอร์มที่นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับผู้แทนในการเลือกตั้ง นโยบาย กติกา และผลการเลือกตั้งที่เปิดให้ทุกคนสามารถเข้าไปดูได้ง่ายๆ แค่ปลายนิ้ว แถมยังมีระบบตรวจสอบด้วยว่าผู้แทนที่ได้เข้าในสภาทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้หรือไม่ หลังจากพวกเขาชนะการเลือกตั้ง ซึ่งนับตั้งแต่เลือกตั้งปี 2562 จนถึงครั้งล่าสุด เว็บไซต์พวกเขามีคนเข้าไปใช้มากถึงหลักสิบล้านแอ็กเคานต์
อีกหนึ่งไฮไลต์คือ OpenBudget เว็บไซต์ที่ทุกคนสามารถตรวจสอบการใช้ภาษีของภาครัฐได้ ซึ่งเกิดจากเพนพอยต์ที่ข้อมูลเกี่ยวกับภาษีของรัฐสภานั้นตรวจสอบและติดตามได้ยาก WeVis จึงพัฒนาโปรเจกต์ OpenBudget แพลตฟอร์มที่ให้ทุกคนเข้าไปใส่คีย์เวิร์ดที่สนใจ เพื่อดูว่ารัฐใช้เงินไปกับเรื่องอะไรบ้างในแต่ละปี
ธนิสราบอกว่า ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา เธอไม่เคยรู้เลยว่าโปรเจกต์ที่ทำนั้นเรียกว่าอะไร ก่อนจะค้นพบว่าพวกเขากำลังขับเคลื่อน ‘ธรรมาภิบาล’ หรือ Good Governance ซึ่งคำนึงถึง 3 สิ่งสำคัญ นั่นคือความโปร่งใสในข้อมูลสาธารณะ ความรับผิดชอบของผู้แทนที่มีอำนาจในการตัดสินใจ และการมีส่วนร่วมของคนหลายรุ่นในการใช้ข้อมูล ถกเถียง สร้างบทสนทนา และสร้างนวัตกรรมใหม่
“นอกเหนือจากธรรมาภิบาล สิ่งที่ WeVis อยากสร้างคือการให้สิทธิกับประชาชนซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐาน หนึ่งคือ สิทธิได้รู้เรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม อีกสิทธิคือ สิทธิได้หวังในสังคมที่เราอยากเติบโตต่อไป”
“หลายคนชอบถามว่า WeVis เป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำเพื่อสังคมหรือคนอื่นหรือเปล่า เรายิ้มแล้วตอบว่า ไม่ค่ะ เราไม่ใช่กลุ่มคนที่ทำเพื่อคนอื่นหรือสังคม แต่เรามารวมตัวกันและทำเพื่อตัวเอง เพื่อสร้างสังคมที่เราอยากเห็น เพราะสังคมนั้นเกิดขึ้นได้จากการรวมตัวกันของเรา”
“ต่อให้ความหวังของคุณจะอยู่ในระดับแสงเทียนก็ไม่เป็นไร เพราะ บางช่วงของ WeVis เราไม่ได้เป็นแสงอาทิตย์ เราเป็นแสงเทียนหลายเล่มที่แค่มารวมกัน เราก็สามารถสร้างบางสิ่งได้แล้ว” ธนิสรายิ้ม
‘มูลนิธิด้วยกัน’ คือมูลนิธิส่งเสริมความเท่าเทียมของคนพิการในสังคมผ่านงานที่หลากหลาย ทั้งการศึกษา การสร้างอาชีพ การทำกิจกรรมต่างๆ ในสังคม นำทีมโดย ‘ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล’ ผู้ที่ปรากฏตัวบนเวทีด้วยยิ้มสดใสและแววตามุ่งมั่น
การทำงานกับคนพิการมีหลายมิติ แต่มิติที่ฉัตรชัยเน้นย้ำในวันนี้คือการศึกษา ซึ่งใครหลายคนยกให้เป็นรากฐานของชีวิต
ฉัตรชัยยกสถิติมาให้ฟังกันก่อนว่า ถ้านับประชากรไทย มี 42% เท่านั้นที่จบการศึกษาแค่ระดับชั้น ป.6 แต่ที่น่าตกใจว่านั้นคือถ้าเป็นคนพิการ มีสัดส่วนที่จบแค่ระดับชั้น ป. 6 สูงถึง 80% และมีคนพิการเพียง 1.7% ของคนพิการทั้งหมดที่จบการศึกษาระดับสูง
คำถามคือ ทั้งๆ ที่รัฐมีนโยบายเรียนฟรี แต่ทำไมตัวเลขของคนพิการที่เข้าระบบยังน้อยจนน่าตกใจ ฉัตรชัยไม่ได้ตอบเราทันที แต่ยกตัวอย่าง ‘น้องต้า’ เด็กตาบอดอายุ 17 ปี ให้ฟัง ความฝันสูงสุดของน้องต้า 3 อันดับคือคนขายลอตเตอรี่ หมอนวด และวนิพกร้องเพลงแลกเงิน เขาถามต่อว่าหากฝัน 3 อย่างนี้ น้องต้าต้องสมัครเรียนมหาวิทยาลัย หรือแม้แต่ระดับชั้นมัธยมหรือไม่
เขายังยกอีกปัจจัยขึ้นมาเล่า นั่นคือการโอบรับของสถานศึกษา “ประเทศไทยเรามีกฎหมายเข้มแข็งแต่ไม่ศักดิ์สิทธิ์ ในกฎหมายระบุว่าสถานศึกษา ห้ามปฏิเสธการรับเด็กพิการเข้าเรียน เพราะเป็นการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม แต่สถานการณ์จริงนั้นเป็นอย่างไร?” คำตอบคือในสถานศึกษาระดับสูง 604 องค์กร มีเพียงที่ที่เปิดรับคนพิการเพียง 382 องค์กร และบางมหาวิทยาลัยก็มีการระบุว่าจะรับคนพิการประเภทไหนบ้าง
มากกว่านั้น ค่าใช้จ่ายในการเล่าเรียนของคนพิการยังนับว่าสูง สำหรับเด็กที่ตาบอดต้องมีเครื่อง Braille Notetakers ราคา 45,000 บาท ไว้จดเลกเชอร์ หรือหากจะต้องใช้คอมพิวเตอร์ก็ต้องมีโปรแกรมอ่านหน้าจอพิเศษมูลค่า 40,000 บาท “ดังนั้นจะเห็นว่า คนพิการชีวิตมันแพง การเกิดเป็นคนพิการไทยต้องรวย ปัญหาคือคนพิการส่วนใหญ่ไม่ได้รวย” ฉัตรชัยบอก และเล่าถึงการแก้ปัญหาในมุมของคนทำงาน
“การแก้ปัญหาเรื่องนี้จะไม่ได้จบแค่แก้ระบบการศึกษาไทย แต่มันคือเรื่องอาชีพ โอกาสในการมีส่วนร่วมในสังคม เรื่องโครงสร้าง ทุกอย่างนั้นส่งผลให้เด็กเรียนหรือไม่เรียน สำหรับผม สิ่งที่สำคัญคือโอกาส ผมเชื่อว่าถ้าเด็กพิการเขาเชื่อว่ามีโอกาสในชีวิตขนาดไหน เขาจะพยายามขึ้นมาเพื่อคว้าโอกาสนั้นได้”
“สิ่งที่เราทำได้ ไม่จำเป็นจะต้องบริจาคเงินด้วยซ้ำ แต่ให้โอกาสให้เขาได้ทำงาน ได้เรียน ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม”
หนึ่งในงานของมูลนิธิด้วยกันที่โฟกัสกับประเด็นการศึกษาของเด็กพิการคือ ‘เด็กพิการเรียนไหนดี’ โครงการที่เป็นเหมือนสะพานเชื่อมระหว่างเด็กพิการกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในฐานะแหล่งข้อมูลสำคัญที่รวบรวมคอร์สต่างๆ ที่เปิดให้เด็กพิการได้เรียน รวมถึงคำแนะนำในการเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย ทั้งยังจัดมหกรรมแนะแนวการศึกษาที่เปิดขึ้นเพื่อรองรับผู้พิการโดยเฉพาะ ให้มหาวิทยาลัยและเด็กพิการได้มาเจอกันและแลกเปลี่ยนข้อมูล และมีการให้ทุนการศึกษาสำหรับเด็กที่ต้องการเรียนต่อไประดับสูงขึ้นด้วย
“ทั้งหมดนี้ทำงานบนความเชื่อว่า การศึกษาที่ดีเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กทุกคน ไม่ว่าเขาจะพิการหรือไม่พิการ” ฉัตรชัยสรุป
“ถ้าใครมีความเชื่อเหมือนเรา อยากให้มาคุยกัน ร้อยพลังด้วยกัน เพราะเราเชื่อว่าองค์กรไม่สามารถทำสิ่งนี้ได้ แต่ต้องอาศัยพลังทุกภาคส่วน เรามองว่าการศึกษาไม่ใช่แค่การศึกษา แต่คือโอกาสทุกอย่างในชีวิตของคนหนึ่งคน”
Rising Star ที่ปรากฏตัวบนเวทีเป็นคนที่ 3 คือ ‘ชาคิต พรหมยศ’ ผู้ก่อตั้งกลุ่ม YoungHappyคอมมูนิตี้ผู้สูงอายุไทยที่อยากให้ทุกคนแก่ตัวไปอย่างมีความสุข สนุก มีคุณค่า และพึ่งพาตัวเองได้ ซึ่งพวกเขานิยามช่วงวัยนี้เอาไว้อย่างน่าประทับใจ ว่าคือ ‘ช่วงวัยอิสระ’
ชาคิตได้รับแรงบันดาลใจในการจัดตั้งกลุ่ม YoungHappy มาจากคุณพ่อวัยเกษียณของตัวเอง ผู้อุทิศตนกับการทำงานและครอบครัวมาทั้งชีวิต แต่พอเกษียณแล้วก็รู้สึกเบื่อกับชีวิตที่เหมือนเดิมในทุกๆ วัน ชาคิตบอกเล่าว่า “สิ่งที่น่าตกใจเกี่ยวกับการเกษียณ คือทุกวันนี้เรามีการเกษียณเร็วกว่า 60 ปี เพราะทุกวันนี้คนก็เกษียณก่อนกำหนดกันเยอะ คำถามคือเกษียณแล้วจะทำอะไรต่อ”
‘สนุก มีคุณค่า พึ่งพาได้’ จึงกลายมาเป็นสโลแกนของ YoungHappy ซึ่งโฟกัสกับกลุ่มผู้สูงอายุชนชั้นกลางที่อาศัยในเมือง ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 3 ล้านคน หลายคนอาจมองว่าพึ่งพาตัวเองได้แล้ว แต่ปัญหาที่พวกเขาเจอคือความเหงาและความว่างเปล่า
กลุ่ม YoungHappy มีสมาชิกเป็นผู้สูงอายุมากกว่า 3 หมื่นคน โดยเน้นแก้ปัญหาเรื่องสุขภาพจิตของวัยอิสระ เช่น ‘พี่รตินธร’ อดีตคุณครูที่หันมาเต้นซุมบ้า ‘พี่ต้อย’ คอลเซ็นเตอร์ของ YoungHappy ที่อาสาเป็นเพื่อนทางใจรับสายแก้เหงาให้กับเพื่อนวัยเกษียณคนอื่นๆ มากกว่านั้นคือเป็นนักดนตรีประจำวง ร.ล.ร. (ร่วมหลายร้อย) ซึ่งรับงานแสดงดนตรีจริงจัง หรือ ‘พี่วิรัช’ อดีตผู้บริหารที่อยู่บ้านเบื่อๆ จึงมานั่งเรียนในระบบ YoungHappy Plus เว็บไซต์เรียนออนไลน์สำหรับวัยเก๋า และหันมาเปลี่ยนตัวเองให้เป็นครูสอนชี่กงในที่สุด
บางคนได้สานฝันที่ไม่ได้ทำตั้งแต่ตอนยังหนุ่ม บางคนได้เจอแพสชันใหม่ที่ทำให้ชีวิตมีสีสัน เหล่านี้คือความสนุก มีคุณค่า และพึ่งพาตัวเองได้ที่ชาคิตบอก
ปัจจุบัน YoungHappy ก้าวเข้าสู่ปีที่ 6 อย่างแข็งแรง และมีเป้าหมายเดิมคือการส่งเสริมกลุ่มวัยอิสระที่มีศักยภาพในการทำสิ่งต่างๆ ให้ยังสนุก แข็งแรง แอคทีฟ เพื่อลดปัญหาสุขภาพจิตและกาย เพิ่มเติมคือการสร้างพื้นที่กิจกรรมและสร้างงานใหม่ๆ ราวหมื่นงานให้กับผู้สูงอายุ ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
“Life has no limit อายุเป็นเพียงแค่ตัวเลขที่บอกว่าเราอยู่บนโลกนี้นานเท่าไร แต่หลังจากนี้ต่างหากคือช่วงเวลาที่จะบอกว่าเรามีความสุขบนโลกนี้ยังไงได้บ้าง”
อีกหนึ่ง Rising Star ที่ขับเคลื่อนแวดวงการศึกษามาหลายปีคือ ‘ชลิพา ดุลยากร’ ผู้ที่หลายคนคุ้นหน้าคุ้นตากันดีในนามผู้ก่อตั้ง Inskru กลุ่มที่เชื่อว่าห้องเรียนนั้นสามารถสนุก มีความคิดสร้างสรรค์ และมีความหมายได้ พวกเขาจึงเปิดแพลตฟอร์มที่ชวนคุณครูทั่วไปมาแลกเปลี่ยนไอเดียในการออกแบบห้องเรียน
ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา Inskru เป็นแพลตฟอร์มที่เป็นคอมมูนิตี้ให้ครูทั่วประเทศไทยได้มาแชร์ไอเดียการสอนกันผ่านเว็บไซต์ โดยมีครูเข้าเว็บไซต์มาแลกเปลี่ยนกว่า 2 แสนคน และเข้ามาอ่านคอนเทนต์พัฒนาตัวเองกว่า 6 ล้านครั้ง
ในทอล์กของชลิพา เธอเท้าความไปตั้งแต่ช่วงวัยเด็กและจุดเปลี่ยนที่ทำให้อยากก่อตั้ง Inskru ขึ้น แต่ก่อนชลิพาเป็นคนไม่กล้าแสดงออก จนกระทั่งได้เจอครูคนหนึ่งที่พาเธอไปประกวดทำสารคดี ทำให้เธอค้นพบว่าตัวเองเป็นคนชอบสร้างสรรค์ ประกอบกับการมีโอกาสไปออกค่ายอาสาไปสอนเด็กๆ ในพื้นที่ห่างไกลตอนเรียนมหาวิทยาลัย ทำให้เธออยากออกแบบห้องเรียนที่สอนให้เด็กๆ ได้ตั้งคำถามและสนุกสนานไปพร้อมๆ กัน
“การสอนเป็นอะไรมากกว่าความรู้ในห้องเรียน การสอนคือชีวิต คือความหมายที่ทำให้เด็กคนหนึ่งเติบโตไปเพื่ออยู่รอดได้” เธอบอก “Inskru เป็นคอมมูนิตี้ที่ให้ครูได้ inspire ครูด้วยกัน ให้คิดคาบเรียนที่มีความหมายกับเด็กๆ มาแบ่งปันกัน ส่งต่อกัน ห้องเรียนก็จะกลายเป็นห้องเรียนที่ดีที่สุดที่เราช่วยกันทำ”
“มันพิสูจน์ว่าในประเทศเรา ท่ามกลางข่าวร้ายๆ ของครูมากมาย มีครูกว่าสองแสนคนที่ตั้งใจ หาความเป็นไปได้ใหม่ด้วยการเข้ามาหาไอเดียในเว็บไซต์”
สำหรับชลิพา Inskru เป็นเครื่องยืนยันความตั้งใจของครูหลายคนว่าสิ่งที่พวกเขาทำนั้นมีคุณค่า
“หากครูคนหนึ่งอยากสอนอย่างตั้งใจและมีความหมาย เขาอาจรู้สึกโดดเดี่ยว และรู้สึกว่าเป็นแกะดำในโรงเรียน เพราะสิ่งที่เขาทำไม่ได้มีใครสนใจ ทุกคนสนใจแต่เรื่องเอกสาร แผนการสอนครบไหม แต่ไม่มีใครสนว่าสิ่งที่ครูสอนมีความหมายกับเด็กๆ หรือเปล่า แต่พอเขามาอยู่ในคอมมูนิตี้นี้ เขารู้สึกว่าการสอนของเขามีคุณค่า และมีคนหลายคนที่คิดเหมือนกันกับเขา จากตอนแรกที่เขาอยากลาออก เขาก็มีกำลังใจและอยากเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนการศึกษาไปพร้อมกัน”
แต่เหนือสิ่งอื่นใด ชลิพาย้ำว่า ก่อน Inskru จะประสบความสำเร็จในปัจจุบัน มีกลุ่มคนมากมายที่พยายามจะขับเคลื่อนระบบการศึกษาไทยให้ไปข้างหน้า มีล้มเหลวบ้าง มีสำเร็จบ้าง แต่เธอก็ยังไม่หมดหวัง
“กว่าจะมาเป็น Inskru ได้ มันผ่านความตั้งใจของคนตัวเล็กๆ ที่ทำมาก่อนหน้าเราจากวงการต่างๆ ทำให้เราเห็นว่าจริงๆ แล้ว พลังของคนทำงานภาคสังคมที่ทำด้วยกันมันมีความหมายมาก เพราะช่วยส่งต่อไอเดียและกำลังใจให้เราทำต่อได้”
“ทุกๆ ความตั้งใจของแต่ละคน ทำให้เราได้เรียนรู้ เติบโตไปอีกรูปแบบ แต่สิ่งที่ทุกคนสร้างไว้มันจะกลายเป็นแรงบันดาลใจที่ส่งต่อให้คนรุ่นต่อไป” เธอทิ้งท้าย
Rising Star คนสุดท้ายที่ปรากฏตัวขึ้นบนเวทีคือ ‘พิชามาศ ชัยงาม’ จาก Loopersแพลตฟอร์มซื้อขายเสื้อผ้ามือสองที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย
นอกจากจะมีเว็บไซต์ที่ทุกคนสามารถเข้าไปขายชุดของตัวเองและซื้อต่อเสื้อผ้ามือสองของคนอื่น ทีมงาน Loopers ยังทำการตรวจสอบ คัดสรร ถ่ายรูป และส่งเสื้อผ้า เพื่อให้มั่นใจว่าคนรับจะได้สิ่งที่ดีที่สุด และคนขายก็จะส่งต่อของมือสองได้แบบสะดวกสบาย
พิชามาศเติบโตมากับธุรกิจสิ่งทอของที่บ้าน เธอจึงมีความคุ้นเคยกับเสื้อผ้าและนับตัวเองว่าเป็นสาวแต่งตัวเก่ง เพนพอยต์ของ Loopers เริ่มจากความเป็นสายช็อปของหญิงสาว ซึ่งพอช้อปมากเข้าทุกวันก็มีเสื้อผ้าล้นตู้ จนปิ๊งไอเดียว่าอยากแลกเสื้อผ้ากับกลุ่มเพื่อนสนิท ประกอบกับช่วงนั้น #wearวนไป และกระแสแฟชั่นยั่งยืนกำลังมาแรง
“เราได้รู้ว่าการซื้อเสื้อผ้ามาแล้วใส่แค่ 1-2 ครั้งมีผลเสียยังไง สถิติที่น่าเซอร์ไพรส์มาก คือ จริงๆ แล้ว คนเราใส่เสื้อผ้าไม่ถึง 40% ของเสื้อผ้าที่เรามีเท่านั้น ด้วยความสงสัยและความไม่สบายใจนี้ เราจึงอยากทำอะไรสักอย่างกับมัน แล้วทำไมเราไม่ลองแลกเสื้อผ้ากับคนอื่นๆ เหมือนที่เราแลกกับเพื่อนเราล่ะ”
เพราะอยากเป็นอีกคนที่ช่วยขับเคลื่อนในอุตสาหกรรมสิ่งทอให้ใจดีกับโลกมากขึ้น เธอจึงชวน ‘ศรัณย์ ศิริภัทรประวัติ’ และ ‘ลูกกอล์ฟ-คณาธิป สุนทรรักษ์’ มาก่อตั้งแพลตฟอร์มส่งต่อเสื้อผ้ามือสองกัน แล้ว Loopers จึงเกิดขึ้นด้วยม็อตโต้ที่ว่า อยากส่งต่อเสื้อผ้าให้คนอื่นเหมือนตอนส่งต่อเสื้อผ้าให้เพื่อนสนิท
“เพราะเรารู้ว่าการผลิตเสื้อหนึ่งตัวต้องใช้น้ำมากกว่า 2,700 ลิตร นอกจากนั้นมันยังผ่านกระบวนการปั่น ทอ ฟอก ย้อม กว่าจะออกมาถึงมือเรา มันใช้ทรัพยากรธรรมชาติและเวลาอย่างมหาศาล Core Value ของ Loopers จึงต้องการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่แล้วให้คุ้มค่าและเกิดคุณค่าให้มากที่สุด ” พิชามาศบอก
นั่นทำให้ในแพลตฟอร์มของ Loopers นอกจากจะระบุข้อมูลผู้ขาย สี ไซส์ รูปถ่าย และตำหนิของเสื้อผ้าตัวนั้นๆ อย่างละเอียด ยังมีการระบุว่าการใช้เสื้อผ้าตัวนั้นต่อจะสร้างอิมแพกต์ต่อโลกได้อย่างไร
พิชามาศประกาศด้วยเสียงหนักแน่นต่อว่า เป้าหมายของ Loopers คือการสร้างความเชื่อใจให้ทุกคนเปิดใจให้กับเสื้อผ้ามือสอง มากกว่านั้นคือการสร้างคอมมูนิตี้ ‘นักลูป’ คนรักเสื้อผ้าที่ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม
“ทุกคนที่เข้ามาร่วมกับเรา เขาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเขาภูมิใจที่ได้รักษ์สิ่งแวดล้อมในวิธีที่เขาทำได้และมีความสุข ทุกข้อความ การ์ด ของขวัญ เป็นแรงใจและพลังที่ทำให้เกดรู้ว่าเราตัดสินใจถูกแล้วที่ทำธุรกิจแพลตฟอร์มเสื้อผ้ามือสองเพื่อสิ่งแวดล้อม เหมือนเรากำลังทำให้ทุกคนเห็นคุณค่าของทรัพยากรที่ตัวเองมีนั่นคือเสื้อผ้า และในเวลาเดียวกัน เราก็ทำให้เขาเห็นว่าตัวเขานั่นแหละกำลังสร้างคุณค่าให้กับสิ่งแวดล้อม”
พิชามาศบอกว่า ฝันของเธอและ Loopers คือเมื่อคนนึกถึงเสื้อผ้ามือสอง คนจะนึกถึง Loopers จะได้เสื้อผ้าที่ใช่ ใส่ได้อย่างภาคภูมิใจ
“เราหวังว่าประสบการณ์ของ Loopers จะเป็น Dot ที่บันดาลใจทุกคนให้ได้สำรวจเสื้อผ้าที่ตัวเองมีอยู่ในตู้ มาเป็นนักลูปกับ Loopers และแน่นอนว่า Dot นี้จะนำพาพวกเราเข้าไปสู่ลูปของความยั่งยืน เพื่อ Good Society, Good Environment และ Good Quality of Life”