ที่มา : https://www.naewna.com/likesara/808909

เปิดแฟ้มวงจรโกง!‘ดร.มานะ’แฉวิธี‘รุกป่า-ฮุบที่ส.ป.ก.’ ร้อง‘ป.ป.ช.’กว่า 1,500 คดี

6 มิถุนายน 2567 ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โพสต์เฟซบุ๊กในรูปบทความเรื่อง “รุกป่า โกงที่ ส.ป.ก. : โกงยังไง” ระบุว่า…

รุกป่า โกงที่ ส.ป.ก. : โกงยังไง

ผืนป่าจำนวนมากถูกบุกรุกกลายเป็นโรงแรม รีสอร์ท โรงงาน บ้านพักตากอากาศ ตกเป็นคดีครึกโครมระดับชาติจำนวนมาก เช่น ที่ดินรถไฟเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ สนามกอล์ฟและสนามแข่งรถที่เขาใหญ่ ฟาร์มเป็ดที่ราชบุรี การออก ส.ป.ก. ทับที่เขาใหญ่ เป็นต้น

ป.ป.ช. เปิดเผยว่า ในปี 2567 มีคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั่วประเทศ 1,513 เรื่อง เฉพาะที่เกิดขึ้นในจังหวัดภูเก็ต 30 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นการร้องเรียนพฤติกรรมของผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าฯ และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามด้วยเจ้าหน้าที่ที่ดิน และ ส.ป.ก.

โกงยังไง!! วันนี้จะเล่าเรื่องบุกรุกผืนป่าในทำเลทอง โดยนำเหตุการณ์จริงในคดีออกโฉนดทับที่ป่าสงวนริมหาดยามู จ.ภูเก็ต มาอธิบาย และคอร์รัปชันเกี่ยวกับที่ดิน ส.ป.ก.

โกงเป็นเครือข่ายใหญ่..

เริ่มจากกลุ่มนายทุน (1) (ดูภาพประกอบ) เมื่ออยากได้ที่ดินป่าสงวนในทำเลทองก็ชี้เป้าที่ดินผืนที่ต้องการและมอบเงินค่าดำเนินการก้อนใหญ่ให้กลุ่มผู้ดำเนินการหรือผู้ประสานงาน (2) ไปหาทางออกโฉนดที่ดินแปลงนั้น แล้วขบวนการสมคบคิดก็เริ่มต้นโดยทุกคนที่เกี่ยวข้องต่อไปนี้ต้องมาวางแผนรับรู้ร่วมกัน

ขั้นต่อไปเมื่อมีการยื่นเรื่องขอออกโฉนดที่ดิน เจ้าหน้าที่ที่ดิน (4) จะออกทำรังวัดและแจ้งให้เจ้าของที่ดินข้างเคียงมารับรองแนวเขต ในกรณีนี้เป็นที่ป่าสงวน เจ้าหน้าที่ “ป่าไม้” (3) ที่รับผิดชอบเขตดังกล่าวได้ออกจดหมายแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ที่ดินด้วยข้อมูลเท็จว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่นอกเขตป่าสงวน จดหมายนี้กลายเป็นสารตั้งต้นไปจนจบกระบวนการออกโฉนด

ขั้นตอนนี้มักมีการสอบยืนยันข้อมูลการใช้ที่ดินจากฝ่ายปกครองในท้องที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านด้วย

ในการออกสำรวจรังวัดในสถานที่ เจ้าหน้าที่ที่ดิน (4) และนายช่างรังวัดพร้อมแผนที่และอุปกรณ์ ย่อมต้องเห็นสภาพแท้จริง แต่ก็ไม่บันทึกข้อมูลหรือตั้งข้อสังเกตว่าที่ดินแปลงนั้นอาจอยู่ในเขตป่าสงวนหรือไม่  แล้วจัดทำเอกสารตามขั้นตอนในสำนักงานที่ดิน ก่อนส่งเรื่องถึงผู้ว่าราชการจังหวัด (5) เพื่อพิจารณาอนุมัติตามขั้นตอน เนื่องจากเป็นที่ดินไม่มีเอกสารแจ้งการครอบครอง (เช่น ส.ค.1 – น.ส.3)

เมื่อผู้ว่าฯ ลงนามอนุมัติแล้ว ส่งเรื่องกลับไปยังเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อออกโฉนด ขั้นตอนมากมายนี้กลุ่มผู้ดำเนินการเป็นผู้เดินเรื่องทั้งสิ้น ในขณะที่กลุ่มนายทุนมีหน้าที่จ่ายเงิน ลงนามทำนิติกรรมแล้วรอรับโฉนดสกปรกไปนอนกอด

แน่นอนว่า เจ้าหน้าที่รัฐทุกคนที่กล่าวถึงนี้ต่างได้รับเงินใต้โต๊ะก้อนใหญ่ทุกครั้ง โดยรับรู้กันว่างานใหญ่มูลค่าสูงมักมีผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ร่วมรับผลประโยชน์ด้วย

ปัจจุบันคดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา

ปรกติแล้วกลุ่มนายทุนมีหลากหลายทั้งชาวไทยและต่างชาติ พวกเขาไม่ชอบลงทุนคนเดียวแต่ร่วมมือเป็นเครือข่าย เพื่อช่วยเหลือกันและกระจายความเสี่ยงในหลายโครงการที่ลงทุนอยู่ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เช่นเดียวกับกลุ่มผู้ดำเนินการที่มีอยู่จำนวนมากและพร้อมรับงานจากนายทุนทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่ ทั่วประเทศ ในแต่ละกลุ่มจะแบ่งงานกันทำและพึ่งพาเครือข่ายเจ้าหน้าที่รัฐร่วมกัน

เจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปรามคดีด้านนี้กล่าวว่า กลุ่มนายทุนและกลุ่มผู้ดำเนินการต่างทำงานเป็นเครือข่ายอาชญากรรม (Organized Crime) แบ่งงานกันวิ่งเต้นติดสินบนอย่างต่อเนื่องด้วยความชำนาญ รอบรู้กฎหมาย ช่องทางราชการและตัวเจ้าหน้าที่ทุกระดับ จึงเป็นงานหนักและยากที่จะปราบปราม

คอร์รัปชัน ที่ดิน ส.ป.ก. ..

การครอบครองที่ดิน ส.ป.ก. เกิดเป็นคดีความ 3 รูปแบบหลักๆ

รูปแบบแรก เป็นการซื้อขายเปลี่ยนมือผู้ครอบครอง ส.ป.ก. จากเกษตรกรรายเดิม แต่ผู้ซื้อผิดคุณสมบัติ ผิดเงื่อนไขของกฎหมาย เช่น ไม่ใช่เกษตรกรจริง หรือบุคคลเดียวถือครองที่ดินหลายแปลง

รูปแบบที่สอง การออกเอกสาร ส.ป.ก. ใหม่ให้ผู้ขอ แต่ผิดเงื่อนไขคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ได้รับ หรือที่ดินแปลงนั้นยังเป็นป่าสมบูรณ์ หรือไม่เหมาะกับการเกษตรเช่น ที่ลาดเชิงเขา

รูปแบบที่สาม เกิดการบุกรุกป่าและเร่งออก ส.ป.ก. ใหม่จำนวนมากอย่างรวดเร็วผิดปรกติ หลายกรณีเข้าข่ายผิดกฎหมาย อันเป็นผลมาจากรัฐบาลมีนโยบายเปลี่ยนให้สิทธิ์ครอบครอง ส.ป.ก. สามารถซื้อขายได้ จำนองได้ ใช้ที่ดินเพื่อการพาณิชย์ก็ได้ จนเกิดเหตุการณ์ นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ แสดงความกล้าหาญเปิดวิวาทะกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ หลังการดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ผู้ออกเอกสาร ส.ป.ก. ทับที่ป่าเขาใหญ่จำนวนมาก