ที่มา : https://www.isranews.org/article/isranews/134051-invesdsds-2.html

ACT เปิดข้อมูล ’10 ทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง’ อบจ. ตั้งคำถาม ‘ป.ป.ช.’ ทำไมคดีน้อยแค่หลักสิบ?

“…ตัวเลขคดีที่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดหรือศาลตัดสินแล้วกลับพบน้อยมาก หากสืบค้นจากเวบไซต์ป.ป.ช. ในช่วงปี 2554 – 2563 พบข้อมูลแค่ 11 คดี จากนั้นไม่พบการอัพเดทข้อมูลอีกเลย นอกจากนั้น ยังพบอีกว่า ช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา มี “คดีร่ำรวยผิดปรกติ” น้อยมาก กล่าวคือ พบคดีร่ำรวยผิดปกติที่ศาลตัดสินยึดทรัพย์แล้ว 1 คดี อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีอีกเพียง 2 คดีเท่านั้น ทั้งๆ ที่ระบบ ACT Ai (actai.co) แสดงข้อมูลการยื่นบัญชีทรัพย์สินของนักการเมืองต่อ ป.ป.ช. พบว่า นายก อบจ. หลายคนมีทรัพย์สินเป็นพันล้านบาท และนายก อบจ. จำนวนมากรวยเกินร้อยล้านบาท ไม่นับรวมความมั่งคั่งของคนในครอบครัว…”

หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2567 องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ได้เผยแพร่ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับ “10 ทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง” ในองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่เกิดขึ้นตลอด 20 ปี (พ.ศ. 2547–2567) พร้อมตั้งคำถามถึงกระบวนการยุติธรรมและบทบาทของ ป.ป.ช. ต่อจำนวนคดีที่น้อยผิดปกติ  โดยข้อมูลจาก ACT พบว่าแม้สังคมรับรู้ถึงการทุจริตงบประมาณท้องถิ่น แต่กลับพบคดีที่เข้าสู่กระบวนการเพียงหลักสิบ คดีส่วนใหญ่เงียบหาย และคนกระทำผิดมักรอดพ้นโทษ นอกจากนี้ ACT ยังได้เปิดเผยข้อเสนอต่อสังคมในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันในระดับท้องถิ่น พร้อมชี้ให้เห็นความสำคัญของการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะและการมีส่วนร่วมของประชาชน

*********

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ เปิดข้อมูล “10 ทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง” ในองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่เกิดขึ้นในรอบ 20 ปี (พ.ศ.2547-2567) พบจำนวนทุจริตน้อยกว่าที่สังคมรับรู้หรือมีการร้องเรียน ที่แย่กว่านั้นหลายคดีเงียบ ขณะที่คนทำผิดส่วนใหญ่กลับรอด เฉพาะ “10 ทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง” ที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมนั้น รวมมูลค่าความเสียหายประมาณการไม่น้อยกว่า 377 ล้านบาท ประกอบด้วย https://bit.ly/3ZpCOPCโดยอดีตนายกอบจ. อุบลราชธานี กระทำทุจริตมากที่สุดถึง 42 คดี ขณะที่ อบจ.สงขลายังมีคดีทุจริตพัวพันอดีตนายก อบจ. มากกว่าจังหวัดใดในประเทศไทย

1. ทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง 42 คดี โดย อดีตนายก อบจ. อุบลราชธานี มูลค่าความเสียหาย 114 ล้านบาท

2. ทุจริตจัดซื้อถุงยังชีพ โดยอดีตนายก อบจ.ปทุมธานี มูลค่าความเสียหาย 3 ล้านบาท

3. ทุจริตจ้างเหมาขุดลอกลำน้ำ โดยอดีตนายก อบจ.ลำปาง มูลค่าความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท

4. ทุจริตเงินอุดหนุนสมาคมกีฬา โดยอดีตนายก อบจ. พิจิตร มูลค่าความเสียหายกว่า 15 ล้านบาท

5. ทุจริตจัดซื้ออุปกรณ์ออกกำลังกายและหนังสือเรียน โดยอดีตนายก อบจ.กำแพงเพชร มูลค่าความเสียหายกว่า 2 ล้านบาท

6. ทุจริตจัดซื้อท่อระบายน้ำมิชอบ โดยอดีตนายก อบจ.พะเยา มูลค่าความเสียหาย 9.6 ล้านบาท

7. ทุจริตทำถนน 6 โครงการ โดยอดีตนายก อบจ.นครราชสีมา มูลค่าความเสียหายกว่า 9 ล้านบาท

8. ทุจริตเงินอุดหนุนวัด โดยอดีตนายก อบจ.สมุทรปราการ มูลค่าความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท

9. ทุจริต 5 กรณี โดยอดีตนายก อบจ.สงขลา มูลค่าความเสียหายเบื้องต้น 18.6 ล้านบาท

10. ทุจริตจัดซื้อถุงยังชีพ “แคร์เซ็ต” โดยอดีตนายก อบจ.ลำพูน มูลค่าความเสียหายเกือบ 6 ล้านบาท

ายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า จากผลโพลล์โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (2567) ระบุว่า ประชาชนกว่าร้อยละ 95 รับรู้ว่ามีคอร์รัปชันโกงกินงบประมาณท้องถิ่นในอบจ.เป็นจำนวนเงินมหาศาล และตามสถิติของป.ป.ช. ยังพบว่า คอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้างฯ เป็นเรื่องที่มีการร้องเรียนมากที่สุด เฉพาะปี 2566 ปีเดียวมีการร้องเรียนมากถึง 827 เรื่อง ไม่นับการร้องเรียนผ่านหน่วยงานอื่นๆ อีก ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง. ) ตำรวจสอบสวนกลางและศูนย์ดำรงธรรม อีกจำนวนหนึ่ง แต่ข้อมูลทุจริตจัดซื้อฯขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกลับหายากมาก

ยิ่งไปกว่านั้น ตัวเลขคดีที่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดหรือศาลตัดสินแล้วกลับพบน้อยมาก หากสืบค้นจากเวบไซต์ป.ป.ช. ในช่วงปี 2554 – 2563 พบข้อมูลแค่ 11 คดี จากนั้นไม่พบการอัพเดทข้อมูลอีกเลย นอกจากนั้น ยังพบอีกว่า ช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา มี “คดีร่ำรวยผิดปรกติ” น้อยมาก

กล่าวคือ พบคดีร่ำรวยผิดปกติที่ศาลตัดสินยึดทรัพย์แล้ว 1 คดี อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีอีกเพียง 2 คดีเท่านั้น ทั้งๆ ที่ระบบ ACT Ai (actai.co) แสดงข้อมูลการยื่นบัญชีทรัพย์สินของนักการเมืองต่อ ป.ป.ช. พบว่า นายก อบจ. หลายคนมีทรัพย์สินเป็นพันล้านบาท และนายก อบจ. จำนวนมากรวยเกินร้อยล้านบาท ไม่นับรวมความมั่งคั่งของคนในครอบครัว

“ตัวเลขอย่างนี้ ผมขอชวนประชาชนช่วยกันถาม ป.ป.ช.และมหาดไทย ว่าพวกท่านคิดอย่างไร สงสัยบ้างไหมว่าทำไมคนไทยทั้งประเทศรู้ว่ามีคอร์รัปชัน แต่พวกท่านไม่รู้จริงหรือ? ทั้งหมดคือความจริงที่ต้องย้ำให้คนไทยตระหนักว่า หากเราปล่อยให้พวกคดโกงชนะการเลือกตั้งครั้งใหญ่ต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะเกิดวิกฤตใหญ่ตามมาอย่างไร” 

เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ กล่าวและว่า เมื่อดูจากเรื่องที่สังคมรับรู้และคดีที่มีคนร้องเรียนในแต่ละปี ฟันธงเลยว่า ส่วนใหญ่รอดและหลายคดีเงียบ

เกี่ยวกับลักษณะการทุจริตจัดซื้อจัดจ้างในอบจ.เฉพาะ 10 ทุจริตที่องค์กรฯ ค้นพบและเผยแพร่นี้ สะท้อนให้เห็นความหลากหลายกลโกงในการจัดซื้อฯ มีทั้งให้บริษัทพรรคพวกหรือคนในครอบครัวมารับงาน มีการทำเอกสารเท็จ ปกปิดข้อมูล ไม่เปิดประมูลทั่วไปแต่เน้นใช้วิธีเฉพาะเจาะจง ฮั้วประมูล อบจ.เองบริหารสัญญาจนรัฐเสียเปรียบ ฯลฯ

“ถ้ามองในแง่ของกระบวนการยุติธรรมสะท้อนให้เห็นว่า การพิจารณาคดีคอร์รัปชันใช้เวลานานมาก แม้ศาลตัดสินว่าผิดจริงก็ลงโทษเบา รอลงอาญาก็มาก และเกือบทั้งหมดไม่ยึดทรัพย์คนโกง”

ถามว่า มองเห็นทางออกของการตัดห่วงโซ่คอร์รัปชันฯระหว่างนักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ นักธุรกิจฮั้วประมูลหรือทุจริตจัดซื้อจัดจ้างฯ ได้หรือไม่ ? เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ บอกว่า ทำได้แต่ต้องอาศัยพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพราะทุกกลโกงย่อมมีช่องโหว่ โดยยกตัวอย่างกรณี “กำนันนก นครปฐม” ประมูลงานรัฐได้กว่าหมื่นล้านบาทด้วยเพราะมีเครือข่ายใหญ่ มีบ้านใหญ่หนุนหลัง ดังนั้น หน่วยงานรัฐอย่าง “ปปง.” ต้องสอบเส้นทางการเงิน แล้วร่วมมือกับหน่วยงานด้านภาษี ทั้ง สรรพากร สรรพากร ศุลกากร เชิญชวนมาร่วมตรวจสอบตัดวงจรเอกชนทุกรายที่เกี่ยวข้อง เช่น ร้านค้าวัสดุก่อสร้าง ผู้รับเหมาช่วง ไปตรวจการเสียภาษีรายได้ ภาษีการค้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม ใครออกใครใช้ใบเสร็จปลอม การซื้อขายวัตถุดิบ การสต็อกสินค้า การส่งออกนำเข้าสินค้า จำนวนลูกจ้าง เป็นต้น

ขณะที่ตัวอบจ.เอง หากมีเจตนารมณ์ดีในการดูแลคุณภาพชีวิตคนในชุมชน สามารถบริหารงบประมาณแบบเน้นการมีส่วนร่วมกับประชาชนและมีการเปิดเผยข้อมูลให้ทุกคนเข้าถึงได้ หรือที่เรียกว่า กระบวนการจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม (Participatory Budgeting) เป็นต้นว่า แผนการจัดทำโครงการลงทุนของ อบจ. จะทำอะไร ใช้งบประมาณเท่าไหร่ต้องให้ประชาชนรู้และร่วมตัดสินใจว่าอะไรเกิดประโยชน์ร่วมกัน อะไรฟุ่มเฟือย จะต้องมีการเผยแพร่งบประมาณประจำปี จากนั้นทุก 6 เดือนก็กลับมารายงานว่าทำอะไร ใช้เงินไปจำนวนมากน้อยแค่ไหน

“สำคัญที่สุดคือ ประชาชนต้องร่วมปกป้องผลประโยชน์ของท้องถิ่น สอดส่องสิ่งผิดปกติ และอย่าเลือกคนซื้อเสียงให้เขากลับมาถอนทุนคืน” เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ กล่าว

ข้อมูลทุจริตองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) https://bit.ly/3ZpCOPC 

1. ทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง 42 คดี ของอดีตนายก อบจ. อุบลราชธานี ผู้มีคดีทุจริตมากที่สุดในประเทศไทย

ปี 2566 นายพรชัย โควสุรัตน์ อดีตนายก อบจ.อุบลราชธานี 3 สมัยระหว่างปี 2547-58 กับพวกถูกร้องเรียนมากถึง 42 คดี ป.ป.ช.ชี้มูลไปแล้วหลายคดี มูลค่าความเสียหายรวมสูงถึง 114 ล้านบาท ทำให้นายพรชัยกลายเป็นนายก อบจ. ที่มีคดีทุจริตมากที่สุดในประเทศไทย หลายคดีถูกศาลอาญาคดีทุจริตฯ พิพากษาจำคุก รวมระยะเวลาจำคุกกว่า 30 ปี ปัจจุบันนายพรชัยอยู่ในสถานะหนีคดี

2. ทุจริตจัดซื้อถุงยังชีพ โดยอดีตนายก อบจ.ปทุมธานี

ปี 2554 เกิดอุทกภัยในจังหวัด ทำให้ อบจ.ปทุมธานีจัดซื้อถุงยังชีพ 2 ครั้ง รวม 6,000 ถุง มูลค่า 3 ล้านบาท เป็นเหตุให้ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนายชาญ พวงเพ็ชร์ และพวกรวม 12 คน ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และละเลยไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ เมื่อศาลมีคำสั่งประทับรับฟ้องคดี ส่งผลให้ นายชาญ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่แม้จะเพิ่งชนะการเลือกตั้งได้เป็นนายก อบจ.ปทุมธานี ต่อมาปี 2567 ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 6 ปี 18 เดือน นอกจากนี้ นายชาญ ยังมีคดีจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายราคาแพงเกินจริงถึงกว่า 40 ล้านบาท ปัจจุบันเรื่องอยู่ระหว่างไต่สวนของ ป.ป.ช.

3. ทุจริตจ้างเหมาขุดลอกลำน้ำของ อบจ.ลำปาง

ช่วงปี 2549-2550 นางสุนี สมมี อดีตนายก อบจ.ลำปาง พร้อมพวก 9 คน ร่วมกันทุจริตโครงการจ้างเหมาขุดลอกลำน้ำ ต่อมา ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด เพราะพบว่ามีการ “จัดฉากตั้งบริษัทรับเหมา” เพื่อเข้าร่วมประมูลรับงานมากถึง 29 โครงการ มีการทำใบเสนอราคาเท็จ ยื่นเสนอราคาเท็จ และปลอมลายมือชื่อกรรมการเปิดซองสอบราคา เพื่อใช้เบิกจ่ายเงินงบประมาณ มีการจ่ายเงินทอน คิดเป็นเงินเกือบ 100 ล้านบาท แถมยังใช้สำนักงาน อบจ. ลำปางเป็นที่แบ่งเงินทุจริต ส่วนผู้รับเหมาที่ทำงานจริงรับเงินแค่ 60% ศาลพิพากษาจำคุกรวม 116 ปี แต่ให้คงจำคุกจริง 50 ปี นอกจากนี้ นางสุนียังถูกจำคุก 8 ปี จากคดีทุจริตจ้างเหมาถมดินอีก 7 โครงการ และมีคดีฐานยื่นบัญชีทรัพย์สินเท็จ ศาลฎีกาสั่งห้ามดำรงตำแหน่งการเมือง 5 ปี จําคุก 1 เดือน ปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษ 1 ปี

4. ทุจริตเงินอุดหนุนสมาคมกีฬา โดยอดีตนายก อบจ. พิจิตร

ปี 2565 นายชาติชาย เจียมศรีพงษ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายก อบจ. พิจิตรกับพวก ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดจากการมีผลประโยชน์ทับซ้อนในการจ่ายเงินอุดหนุนให้แก่สมาคมกีฬาจังหวัดพิจิตร ซึ่งตนดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ นั้นด้วย เมื่อสมาคมฯ มีหนังสือขอรับเงินสนับสนุนจาก อบจ. พิจิตรโดยไม่มีรายละเอียดค่าใช้จ่ายในโครงการประกอบการพิจารณา นายชาติชาย อนุมัติเบิกจ่ายเงินตลอด 3 ปี เป็นเงินรวม 15,654,115.12 บาท ซึ่งเงินก้อนนี้สมาคมกีฬาฯ ได้ส่งต่อให้แก่ทีมสโมสรฟุตบอลที่นายชาติชายเป็นที่ปรึกษาสโมสรฟุตบอลพิจิตรเอฟซี และผู้จัดการสนาม สโมสรฟุตบอล ทีทีเอ็ม เอฟซี พิจิตร ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ได้มีคำพิพากษาจำคุก 9 ปี 12 เดือน ปัจจุบันคดียังไม่สิ้นสุด จำเลยมีสิทธิ์อุทธรณ์ได้

5. ทุจริตจัดซื้ออุปกรณ์ออกกำลังกายและหนังสือเรียน โดยอดีตนายก อบจ. กำแพงเพชร

ปี 2565 นายจุลพันธ์ ทับทิม อดีตนายก อบจ. กำแพงเพชร ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดฐานทุจริตจัดซื้ออุปกรณ์ออกกำลังกาย และศาลอาญาคดีทุจริตฯ พิพากษาจำคุก 12 ปี คดีนี้ยังไม่สิ้นสุด จำเลยมีสิทธิ์อุทธรณ์ได้ ต่อมา ปี 2567 ก็ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดคดีทุจริตจัดซื้อหนังสือและสื่อการเรียนการสอน 3 โครงการมูลค่ารวม 2 ล้านบาท ด้วยวิธีพิเศษ ฐานละเลยปฏิบัติหน้าที่อันจะเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง คดีนี้หมดอายุความแล้ว

6. ทุจริตจัดซื้อท่อระบายน้ำมิชอบ โดยอดีตนายก อบจ.พะเยา

ปี 2561 นายวรวิทย์ บุรณศิริ อดีตนายก อบจ. พะเยา ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดจากการจัดซื้อท่อระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก งบประมาณ 241,800 บาท เพื่อนำไปใช้แก้ไขปัญหาน้ำท่วมในจังหวัด ต่อมาปี 2564 ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษนายวรวิทย์ บุรณศิริ จำคุก 2 ปี และปรับ 40,000 บาท แต่ให้รอลงอาญา 2 ปี นอกจากนี้ นายวรวิทย์ยังถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดในคดีทุจริตจัดซื้อต้นกล้ายางพาราเพื่อแจกจ่ายให้กับเกษตรกร 426,250 ต้น งบประมาณ 17,050,000 บาท ปัจจุบันคดีนี้อยู่ในชั้นศาลพิจารณา

7. ทุจริตทำถนน 6 โครงการ โดยอดีตนายก อบจ.นครราชสีมา

ปี 2567 นายแพทย์สำเริง แหยงกระโทก อดีตนายก อบจ.นครราชสีมา ถูก ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดคดีทุจริตโครงการก่อสร้างถนนหลายโครงการ โดยศาลอาญาคดีทุจริตฯ พิพากษาจำคุก 25 ปี ส่วนบริษัทผู้รับเหมา 3 รายถูกปรับรายละ 40,000 บาท โดยกรรมการผู้มีอำนาจลงนามทุกรายโดนโทษจำคุก อย่างไรก็ตาม คดีนี้ยังสามารถอุทธรณ์ต่อได้ คดีนี้จึงยังไม่สิ้นสุด

8. ทุจริตเงินอุดหนุนวัด โดยอดีตนายก อบจ.สมุทรปราการ

ปี 2565 ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด นายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม อดีตนายก อบจ.สมุทรปราการ กับพวก ทุจริตการจัดสรรเงินอุดหนุนวัดในจังหวัดสมุทรปราการ ระหว่างปี 2554-2556 รวม 68 โครงการ งบประมาณรวม 836,129,125 บาท โดยเงินเหล่านี้จะต้องนำไปใช้เพื่อบูรณะบำรุงวัด และเตาเผาศพ แต่กลับมีเงินทอนครึ่งหนึ่งของเงินอุดหนุนที่วัดเหล่านี้ควรจะได้ มูลค่าความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท โดย ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดและทำส่งสำนวนให้กับอัยการสูงสุดเพื่อส่งฟ้องศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ

9. 5 คดีทุจริต โดยอดีตนายก อบจ. สงขลา

ระหว่างปี 2551-2552 นายนวพล บุญญามณี อดีตนายก อบจ.สงขลา กับพวก ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด เริ่มที่คดีแรก ทุจริตโครงการส่งเสริมพัฒนาสุขภาพประชาชนโครงการตรวจสุขภาพผู้สูงอายุ ด้วยการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ พร้อมชี้มูลความผิดเอกชนที่เป็นสถานพยาบาล ฐานร่วมกันสนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในการทุจริตต่อการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐด้วย ปัจจุบันคดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล คดีที่สอง ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดการสมยอมกันเสนอราคาโครงการจัดซื้อกุ้งก้ามกราม 40 ล้านตัว งบประมาณ 10,000,000 บาท โดยเอื้อประโยชน์แก่ผู้เสนอราคาบางราย คดีนี้ศาลอุทธรณ์ฯ พิพากษาจำคุก 7 ปี คดีที่สาม ทุจริตการสำรวจออกแบบโครงการก่อสร้างทางหลวงชนบท 30 เส้นทางวงเงินรวม 8,068,000 บาท ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ตัดสินจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา คดีที่สี่ คดีนำรถยนต์ราชการไปจำนำที่บ่อนการพนัน ศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 18 ปี 24 เดือน คดีที่ห้า ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโครงการจ้างสำรวจและออกแบบ ถนนลาดยางทางหลวงชนบทศาลอาญาคดีทุจริตฯ พิพากษาจำคุก 2 ปี

มีข้อสังเกตว่า จังหวัดสงขลายังมีคดีทุจริตพัวพันอดีตนายก อบจ. มากกว่าจังหวัดใดในประเทศไทย เมื่อนับรวมอีก 2 ราย คือ นายนิพนธ์ บุญญามณี และนายอุทิศ ชูช่วย

10. ทุจริตจัดซื้อถุงยังชีพ “แคร์เซ็ต” โดยอดีตนายก อบจ.ลำพูน

ช่วงโควิดระบาดปี 2563 นายนิรันดร์ ด่านไพบูลย์ นายก อบจ. ลำพูนในขณะนั้น จัดซื้อชุดของใช้ประจำวันเพื่อแจกผู้สูงอายุ (Care Set) วงเงิน 16,343,000 บาท ต่อมา ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดตามกฎหมายอาญาและกฎหมายฮั้ว แล้วยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ จนมีคำพิพากษาในปี 2566 ให้จำคุกเจ้าของบริษัทที่เกี่ยวข้อง คนละ 2 ปี ปรับ 120,000 บาท ให้จำคุกรองปลัด อบจ. 3 ปี และร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จำนวน 5,918,769.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่ อบจ.ลำพูน ส่วน รองนายก อบจ. 2 คน ปลัด 1 คน และรองปลัด 1 คน ศาลพิพากษา ให้รอลงอาญาเป็นเวลา 2 ปี ปรับคนละ 100,000 บาท และให้ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จำนวน 5,918,769.80 บาท พร้อมดอกเบี้ย สำหรับ นายก อบจ.ลำพูน ศาลพิพากษายกฟ้อง ปัจจุบัน ป.ป.ช. กำลังเตรียมการขออุทธรณ์คำพิพากษาต่อไป