25 มีนาคม 2558 – ภาคธุรกิจไทยคึกคักตื่นตัวขานรับแนวคิดการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน ล่าสุด “กลุ่มบริษัทพรีเมียร์” จัดงาน “ธุรกิจโลกใหม่ : กำไรบนความยั่งยืนร่วมกันคือกำไรสูงสุด” เปิดประสบการณ์ทั้งเวทีความคิด – ต้นแบบกระบวนการทำธุรกิจที่สามารถช่วยพัฒนาสังคม “ตลาดหลักทรัพย์ฯ” ยืนยันมุ่งมั่นสร้างกลไกที่ช่วยส่งเสริมการลงทุนอย่างยั่งยืน ด้าน “สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย” เชื่อมั่นภาคเอกชนไทยตื่นตัวมาก ดังการเติบโตของโครงการแนวร่วมปฏิบัติภาคเอกชนในการต่อต้านการทุจริต หรือ CAC กว่า 400 องค์กร
“กลุ่มบริษัทพรีเมียร์” ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านสินค้าอุปโภคบริโภค,สิ่งแวดล้อม,อสังหาริมทรัพย์และการเงิน มากว่า 30 ปี ได้จัดงาน “ธุรกิจโลกใหม่ กำไรบนความยั่งยืนคือกำไรสูงสุด” ขึ้น ณ ห้องรอยัลพารากอน ฮอลล์ สยามพารากอน เพื่อเผยแพร่ แลกเปลี่ยนแนวคิด และประสบการณ์การทำธุรกิจในโลกยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างคุณค่าและตระหนักถึงการเกื้อกูลต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ได้แก่ ลูกค้า คู่ค้า พนักงาน สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างองค์กรในการนำประสบการณ์ของกลุ่มบริษัทพรีเมียร์ไปสร้างคุณค่าให้แก่ธุรกิจและสังคมควบคู่กันไป โดยมีผู้ร่วมงานเป็นคู่ค้าและภาคีกลุ่มบริษัททั้งภาคสังคมและภาคธุรกิจจำนวนกว่า 1,200 คน
นายวิเชียร พงศธร กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทพรีเมียร์ เปิดเผยว่า โลกธุรกิจวันนี้มีแนวโน้มว่าธุรกิจที่ให้คุณค่ากับการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถประสบความสำเร็จทางธุรกิจอย่างดียิ่ง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจพลังงานสะอาด อาหารปลอดสารพิษ สินค้าแฟร์เทรด ฯลฯ ขณะที่ปัญหาทางสังคมโดยรวมที่เกิดจากการขาดความตระหนักถึงความรับผิดชอบของภาคธุรกิจได้กลายเป็นความเสี่ยงทางธุรกิจ ดังนั้น “กำไรสูงสุด” ที่ได้มาด้วยเหตุผลดังกล่าว ย่อมส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนของสังคมโดยรวม จึงเป็นกำไรที่ไม่ยั่งยืน “ผมเชื่อว่ากำไรที่เป็นประโยชน์ร่วมกันและมาจากความยั่งยืนของสังคมโดยรวมคือกำไรสูงสุด เราจึงจัดงานนี้ขึ้นเพื่อยืนยันความเชื่อนี้ พร้อมกับหวังว่าจะเกิดแรงกระเพื่อมให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ขยายวงต่อไปยังผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก กลายเป็นระบบนิเวศน์ใหม่ที่มีคนจากภาคส่วนต่างๆ มาช่วยกันอุ้มชูสังคม ผลที่ได้คือสังคมที่ดีและเข้มแข็ง ซึ่งจะกลายเป็นมูลค่าเพิ่มที่สำคัญของธุรกิจด้วย นี่คือความหมายของกำไรที่ยั่งยืน”
ทั้งนี้ งาน “ธุรกิจโลกใหม่ฯ” ประกอบด้วย เวทีความคิด หัวข้อ “ธุรกิจวิถีใหม่ กรณีศึกษาการสร้างกำไรที่ยั่งยืน” วิทยากร ได้แก่ นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล ,นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ,นายบัณฑิต นิจถาวร และ นายวิเชียร พงศธร โดยนายอานันท์ ปันยารชุน ร่วมแสดงวิสัยทัศน์และให้แรงบันดาลใจถึงบทบาทภาคธุรกิจต่อการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน
นอกจากนั้น ยังมีสื่อวิดีทัศน์แนะนำโครงการเพื่อสังคมของภาคี และนิทรรศการเพื่อสื่อสารถึง “กำไร” ในความหมายใหม่ด้วยการนำโครงการประเภทต่างๆ ยกเป็นตัวอย่างกว่า 10 โครงการ สะท้อนให้เห็นเป็นรูปธรรมว่า การพัฒนาสังคมสามารถออกแบบโครงการที่สอดผสานไปกับกระบวนการทำธุรกิจได้อย่างกลมกลืน ประกอบด้วย (1) การบริหารการเงิน-โครงการกองทุนคนไทยใจดี (2) การบริหารคน-โครงการองค์กรอาสาสมัครและอาสาสมัครองค์กร และออกเสียงออกแบบประเทศไทย (3) การบริหารการขายและการตลาด-โครงการ Food4Good (4) การบริหารการผลิตและกระบวนการ นำเสนอ แนวคิดขยะเหลือศูนย์ของโรงแรมรายาวดีและโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) (5) การบริหารความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง-โครงการหมู่บ้านโคกขี้เหล็ก,ค่ายเยาวชนต้นกล้ารักกระบี่รักษ์อันดามัน (6) ความยั่งยืน-โครงการกองทุนการศึกษาเพื่อเด็กขาดโอกาส,โครงการครูรุ่นใหม่สอนเด็กไทยโตไปไม่โกง (7) รูปแบบธุรกิจ – ร้านปันกัน-กาแฟมีวนา เป็นต้น โครงการเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างที่เปิดกว้างให้ผู้สนใจทั่วไปนำไปขยายผลหรือมีส่วนร่วมในการลงมือทำได้ ทั้งนี้ สายงานพัฒนาความยั่งยืนของสังคม กลุ่มบริษัทพรีเมียร์ ซึ่งประกอบด้วย มูลนิธิเพื่อคนไทย,มูลนิธิยุวพัฒน์,มูลนิธิเอนไลฟ์ พร้อมเป็นตัวกลางประสานงานสร้างความร่วมมือ
นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่าปีนี้ ทั้งภาคตลาดทุนและภาคธุรกิจต่างตื่นตัวในการยกระดับตนเองให้เข้มแข็งและพร้อมรับแนวโน้มการพัฒนาที่ยั่งยืนกันอย่างมาก เฉพาะตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนากลไกส่งเสริมการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ (Socially Responsible Investing: SRI) อย่างต่อเนื่องและจริงจัง ด้วยการเผยแพร่หลักการลงทุนสากล UN PRI พร้อมกับพัฒนากระบวนการประเมินความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนไทย (Thailand Sustainable Investment) เพื่อคัดกรองบริษัทเข้าสู่กลุ่มบริษัทคุณภาพด้าน ESG (Environment Social and Governance) ที่น่าลงทุน โดยใช้แนวทางการประเมินเทียบเคียงกับ Dow Jones Sustainability Index (DJSI) และจะพัฒนาสู่การจัดทำดัชนีด้านความยั่งยืนของ ตลท. หรือ SET Sustainability Index ต่อไป นับว่าสอดคล้องที่ ตลท. สนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่สามารถเข้าสู่การเป็นสมาชิกของ DJSI ถึง 10 บริษัทในปีล่าสุด เป็นจำนวนสูงสุดในอาเซียน นอกจากนั้น ยังได้สนับสนุนบริษัทจดทะเบียนร่วมกันระดมทุนก่อตั้งกองทุนเพื่อสังคม โดยมีเป้าหมายที่จะนำเงินไปลงทุนในกิจการเพื่อสังคมที่มีโอกาสเติบโตทั้งด้านกำไรและการสร้างผลกระทบที่ดีให้แก่สังคมและสิ่งแวดล้อม นับเป็นอีกก้าวของการยกระดับการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมที่เดิมเรียกว่าซีเอสอาร์ สู่การลงทุนที่ยั่งยืน “เราสามารถใช้เครื่องมือด้านการลงทุนมาผลตอบแทนทางการเงินไปพร้อมๆ กับการทำความดีและสร้างการเปลี่ยนแปลงและสังคมที่เข้มแข็งได้” นายสถิตย์กล่าว
นายบัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD.) กล่าวว่า ภาคธุรกิจไทยมีความตื่นตัวในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาก ดังจะเห็นได้จำนวนองค์บริษัทที่ผ่านเกณฑ์เข้าร่วมโรงการแนวร่วมปฏิบัติภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC-Collective Action Coalition Against Corruption) ณ วันนี้ มีมากกว่า 400 บริษัทที่พร้อมจะส่งเสริมระบบธรรมภิบาลในองค์กร หรือ Governance องค์ประกอบสำคัญของการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน ที่ส่งผลต่อการสร้างเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยวันที่ 27 มีนาคมนี้ สถาบันฯ เตรียมจัดสัมมนา “ผนึกเสียง 400 บริษัทเพื่อสู้ปัญหาคอร์รัปชันเชิงระบบ” นับเป็นอีกระดับของการทำงานเชิงรุกของภาคเอกชนที่ช่วยสร้างพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน
คุณสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด ร่วมเป็นวิทยากรเวทีความคิด “ธุรกิจวิถีใหม่…กรณีศึกษาการสร้างกำไรที่ยั่งยืนร่วมกัน”
ดร. สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พร้อมด้วยดร.บัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย คุณสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด และคุณวิเชียร พงศธร กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทพรีเมียร์ ร่วมแสดงความคิดเห็นบนเวทีความคิด “ธุรกิจวิถีใหม่…กรณีศึกษาการสร้างกำไรที่ยั่งยืนร่วมกัน” จัดขึ้นโดยกลุ่มบริษัทพรีเมียร์ ดำเนินรายการโดยคุณวีณารัตน์ เลาหภคกุล