IMG_5072

“มูลนิธิเพื่อคนไทย” ร่วมกับ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดผลวิจัยโครงการ “ออกเสียงออกแบบประเทศไทย” สำรวจความคิดเห็นคนไทยทั่วประเทศ 77 จังหวัด กว่า 50,000 ตัวอย่าง ถึงภาพฝันที่อยากเห็น และสิ่งที่สามารถลงมือทำ ปรากฏว่า 5 อันดับแรกเป็น “รู้รักสามัคคี-เศรษฐกิจแกร่ง-ประเทศ ไร้คอร์รัปชัน-ยุติธรรมไม่มีชนชั้น-เกษตรกรอยู่ดีกินดี” พร้อมเปิดเวทีความคิด เชิญชวนคนไทยทุกภาคส่วนร่วม ลงมือทำผ่านกลไกการปฏิรูปที่ริเริ่มสร้างสรรค์โดยภาคประชาชนที่มีหลากหลาย ทั้ง “พลเมืองเสวนา-ปลุกพลังเปลี่ยนไทย-ร้อยโครงการเปลี่ยนประเทศ” และอื่นๆ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ ร่วมกันแก้ปัญหาสังคมอย่างเป็นระบบโดยพลังพลเมือง

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจความคิดเห็นโครงการ “ออกเสียงออกแบบประเทศไทย” ในงานเวทีความคิด “เปิดผลวิจัยออกเสียงออกแบบประเทศไทย : สู่พลังพลเมืองร่วมปฏิรูป” ซึ่งเป็นครั้งแรกที่คนไทยได้มีส่วนร่วมเสนอความฝันที่อยากเห็น ร่วมกำหนดทางเดินสู่ประเทศในฝัน และสิ่งที่พร้อมจะ “ลงมือทำ” โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากประชาชนทั่วประเทศ 77 จังหวัด ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน 2558 รวมทั้งสิ้น 52,947 ตัวอย่าง โดย 7 ความฝันแรกที่คนไทยฝันอยากเห็นมากที่สุด ได้แก่
ลำดับที่ 1 “คนไทยรักและสามัคคี บ้านเมืองสงบ น่าอยู่ ปลอดภัย ไม่มีปัญหาอาชญากรรมและภัยสังคมต่างๆ” ร้อยละ 28.3 ลำดับที่ 2 “ประเทศก้าวหน้าทุกด้าน เศรษฐกิจแข็งแกร่ง พร้อมทั้งมีความสามารถในการแข่งขัน” ร้อยละ 25.7
ลำดับที่ 3 “ประเทศไทยไร้คอร์รัปชันสิ้นเชิง” ร้อยละ 9.7 ลำดับที่ 4 “ยุติธรรมไม่มีชนชั้น ใครๆ ก็ต้องได้รับความเป็นธรรม” ร้อยละ 8.1 ลำดับที่ 5 “เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตดี” ร้อยละ 5.9 ลำดับที่ 6 “ประชาชนมีอำนาจเหนือนักการเมือง” ร้อยละ 5.7 ลำดับที่ 7 “การศึกษานำไปสู่การสร้างปัญญาที่แท้จริง” ร้อยละ 3.8
ทั้งนี้คนไทยที่มีส่วนร่วมเสนอความฝัน ได้ให้ข้อเสนอสำหรับทางเดินสู่ประเทศไทยในฝัน เพื่อทำให้ฝันนั้นเป็นจริงและ “ตัวคุณ” จะทำอย่างไรในการมีส่วนทำให้เพื่อฝันนั้นเป็นจริง เฉพาะฝันลำดับที่ 1 “คนไทยรักและสามัคคี บ้านเมืองสงบ น่าอยู่ ปลอดภัย ไม่มีปัญหาอาชญากรรมและภัยสังคมต่างๆ” นั้น มีข้อเสนอทางเดินสู่ฝัน ดังนี้ (1) สร้างความปรองดอง มีความรักสามัคคีกัน ไม่แบ่งฝ่าย ร้อยละ 32.8 (2) จัดกิจกรรมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อสร้างความสามัคคี และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ร้อยละ 16.5 และ (3) พัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง เช่น การศึกษา เศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ประชาชน พร้อมทั้งเร่งแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ร้อยละ 10.0

นายวิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทยเปิดเผยว่า จากผลวิจัย “ออกเสียง ออกแบบประเทศไทย” เมื่อเทียบกับผลวิจัย “คนไทยมอนิเตอร์” ที่มูลนิธิเพื่อคนไทยได้ทำแบบสอบถามความเห็นประชาชน 1 แสนชุด 3 ปี ต่อเนื่องกันมาทุกปีกระทั่งล่าสุดเมื่อปี 2557 นั้น สามารถสะท้อน “จุดร่วม” ของ “ปัญหาสังคมไทย ได้ 3 ประการ ได้แก่ (1) คนไทยต้องการการอยู่ร่วมแบบสันติและมีความอยู่ดีมีสุข (2) ประชาชนส่วนใหญ่พร้อมจะลงมือทำ แต่ยังขาดช่องทางการลงมือปฏิบัติ (3) ปัญหาสังคมมีหลายประเด็นที่ต้องเร่งเยียวยา ไม่ใช่แค่เรื่องความขัดแย้งทางการเมือง แต่ยังมีเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการพัฒนาคุณภาพระบบการศึกษาให้เด็กไทย เรื่องคุณธรรม จริยธรรม ที่ต้องเร่งปลูกฝัง ไม่เช่นนั้นปัญหาคอร์รัปชัน จะกัดกร่อนขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ
“เพราะปัญหาประเทศมีขนาดใหญ่เกินไป และเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่ต้องสร้างกลไกหรือเครื่องมือให้คนจำนวนมากสามารถลงมือทำร่วมกันได้ จะยิ่งช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่” ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทยกล่าวและว่า กลไกหรือเครื่องมือสร้างการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีมากมายที่ประชาชนสามารถร่วมลงมือทำได้ในบทบาทต่างๆ เช่น บทบาทของนักลงทุน มีกลไกอย่าง กองทุนคนไทยใจดี, บทบาทนักบริจาค มีเวบไซต์เทใจ.คอม, ร้านปันกัน บทบาทพลเมืองต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน มีโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) ,หลักสูตรโตไปไม่โกง และอีกหลายโครงการเพื่อสังคม ล่าสุด ยังมีโครงการ “พลเมืองเสวนา” ,โครงการ “ปลุกพลังเปลี่ยนไทย” และ “ร้อยโครงการเปลี่ยนประเทศ” ที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาให้เป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำหน้าที่บูรณาการทรัพยากรและความร่วมมือระดับประเทศเพื่อแก้ปัญหาสังคมอย่างเป็นระบบและมีคุณภาพ รวมถึงสามารถวัดผลกระทบทางสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม

รศ.ดร. จุรี วิจิตรวาทการ ประธานศูนย์สาธารณประโยชน์และประชาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และประธานคณะอนุกรรมาธิการปลูกฝัง สร้างเสริมคุณธรรมจริยธรรม ความโปร่งใส และการมีส่วนร่วมในการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวว่า จากผลวิจัยมีทำให้มีความหวังขึ้น เพราะในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาสังคมบอบช้ำกับปัญหาที่เกิดขึ้น แต่เสียดายที่ผลวิจัยไม่สะท้อนว่าคนไทยมีความตื่นตระหนักในเรื่องคุณธรรม จริยธรรม มากนัก หลักสำคัญของการปฏิรูปก็คือการเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมมากขึ้น โดยเฉพาะการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมที่ต้องทำในทุกมิติของสังคม

นพ. พลเดช ปิ่นประทีป ประธานกรรมการมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา กล่าวว่า จากประสบการณ์การทำเวทีสร้างเป้าหมายร่วมของคนในชาติ โครงการปลุกพลังเปลี่ยนไทย 900 เวทีทั่วประเทศแต่ละเวทีมีผู้เข้าร่วม1,000 คน ปรากฏว่า เสียงสะท้อนของคนไทย 90,000 คน สอดรับกับผลวิจัยออกเสียงออกแบบประเทศไทย กล่าวคือ ประชาชนเห็นด้วยกับการมีความสามัคคีปรองดองกว่าร้อยละ 90 วันนี้ถึงเวลาที่ภาคประชาสังคมต้องนำภาครัฐโดยการตั้งเป้าหมายการพัฒนาชุมชนหรือสังคมที่ตนอยู่ด้วยตัวเอง ไม่รอภาครัฐเป็นผู้กำหนดยุทธศาสตร์

ดร. บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า ประเด็นภาพฝันที่คนไทยอยากเห็นนั้นสอดรับกับนโยบายการปฏิรูปของประเทศด้านต่างๆ อย่างชัดเจน ทั้งเรื่องความปรองดอง การลดความขัดแย้ง และความตื่นตระหนักในปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ กลไกอย่างโครงการพลเมืองเสวนา(www.citizenforum.in.th) ทำหน้าที่เป็นช่องทางแสดงออกถึงพลังพลเมืองสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะชัดเจนมากในเรื่องงประชาธปไตยแบบมีส่วนร่วม แต่จะทำอย่างไรให้กลุ่มผู้แสดงความคิดเห็นกว่า 1,000 คนของเครือข่ายพลเมืองเสวนาเสียงดังขึ้นและไปทำงานเชื่อมต่อกับกลไกการปฏิรูปภาคพลเมืองอื่นๆ ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นร้อยโครงการเปลี่ยนประเทศหรือปลุกพลังเปลี่ยนไทย หรืออื่นๆ พลังนี้มีอยู่จริงและพร้อมเป็นสารตั้งต้นผลักดันให้เกิดการปฏิรูป
อนึ่ง โครงการ พลเมืองเสวนา หรือ “Citizenforum” (www.citizenforum.in.th) : ชุมชนของพลเมืองที่มีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวม (Active Citizen) ผู้สนใจประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ที่เน้นผลักดันการปฏิรูปประเทศให้เกิดความก้าวหน้า สร้างพื้นที่กลางของพลเมืองในการสื่อสาร แลกเปลี่ยนความเห็น ใช้สิทธิการแสดงความเห็นในฐานะพลเมืองต่อการปฏิรูปประเทศ ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้
โครงการปลุกพลังเปลี่ยนไทย (www.inspiringthailand.org) : กลไกการสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมขนาดใหญ่ ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนโดยมี 4โครงการ ได้แก่ 1.โครงการสร้างเป้าหมายร่วมของคนในชาติ ผ่านเวทีวิสัยทัศน์ 77 จังหวัด 2. โครงการ “ร้อยโครงการเปลี่ยนประเทศ” 3.“โครงการเครือข่ายผู้นำแห่งอนาคต” 4.โครงการสื่อสารและโครงการสร้าง Active Citizen
สามารถดาวน์โหลดผลวิจัยออกเสียงออกแบบประเทศไทยฉบับเต็มได้ที่http://www.khonthaifoundation.org/files/mediac/50_1PPT-1Khonthaivoice0708%20Final.pdf