1 เวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์อาสาสมัครพัฒนากองทุนเพื่อสังคม

ในการจัดงาน “ตลาดนัดโอกาสร้อยพลังเปลี่ยนประเทศ : กลไกลดความเหลื่อมล้ำ..ปัญหาเด็ก เกษตรกร คนชรา คนพิการและต่อต้านคอร์รัปชัน” เมื่อ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา จึงได้นำ “ตัวอย่าง” กลุ่มอาสาสมัครระดับบุคคล ที่ได้อุทิศเวลาและนำความรู้ความเชี่ยวชาญมาร่วมพัฒนากลไกระดมทุนและเครื่องมือการลงทุนเพื่อสังคมในโครงการ “ร้อยพลังเปลี่ยนประเทศ” มาร่วมพูดคุยถึงแรงบันดาลใจในการร่วมเป็นอาสา บน “เวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์อาสาสมัครพัฒนากองทุนเพื่อสังคม

IMG_2855
“นายมนตรี ศรไพศาล” ประธานเจ้าหน้าที่ร่วมบริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เล่าถึงแรงบันดาลใจที่อยากช่วยเหลือสังคมมาจากหนังสือเล่มหนึ่งที่พูดถึง “ชีวิตที่เกิดมาในโลกนี้ ไม่ได้เพียงแค่เพื่อตัวเราเอง” แต่สังคมยังต้องการแสงสว่างอีกมากมาย เขาจึงอยากแบ่งปันความรักและสิ่งดีๆ ให้แก่สังคม
“การที่คนเราไม่จักแบ่งปันกันและกันก็จะเป็นเหมือน “ทะเลเดดซี” หรือ ทะเลตาย ที่มีแต่น้ำไหลเข้าแต่ไม่มีทางออกของน้ำ จึงทำให้ทะเลมีแต่น้ำเค็มซึ่งเป็นแหล่งแห่งความตาย ดังนั้น การเติมความรักให้กันและกันจึงเป็นเสมือนการให้แสงสว่างแก่สังคม”
มนตรี ยังได้เล่าถึงการดำเนินธุรกิจด้านการเงินของกลุ่มบริษัท เมย์แบงก์ กิมเอ็ง มาเลเซีย ที่ได้ช่วยเหลือสังคม ในโครงการปล่อยกู้ให้กับธุรกิจระดับฐานรากเพื่อสร้างอาชีพแก่ชาวบ้าน เช่น อาชีพซ่อมอวน จักรเย็บผ้า โดยไม่คิดดอกเบี้ย แต่ผู้กู้ต้องคืนเงินต้น นอกจากนี้ ในส่วนธุรกิจด้านหลักทรัพย์ของกลุ่มบริษัทก็มีการช่วยเหลือสังคมเช่นกัน เช่น นักลงทุนที่ซื้อขายหุ้นกับบริษัท จะได้มีส่วนร่วมกันทำสิ่งดีๆ เพื่อสังคมด้วย โดยบริษัทจะนำเงิน 0.25% ของค่าคอมมิชชั่น บริจาคเข้ากองทุนเพื่อสังคม เพื่อไปช่วยเหลือผู้ที่ด้อยโอกาสในภูมิภาคต่อไป

“การมีความคิดที่จะทำอะไรดีๆ เพื่อสังคม เราสามารถออกแบบให้สร้างสรรค์ เพราะนอกจากความสัมพันธ์ทางการค้าแล้ว การได้มาทำสิ่งดีๆ ร่วมกัน ผมคิดว่าทำให้เกิดความปิติยินดี เพราะการให้เป็นความสุขมากกว่าการรับ แล้วเมื่อนั้นสังคมก็จะเป็นสุข”

IMG_2866

เช่นเดียวกับ “นายปริญญ์ พานิชภักดิ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ซี แอล เอส เอ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นอีกคนหนึ่งจากวงการตลาดทุนที่มาเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือสังคมในโครงการต่างๆ หลังจากที่เขาได้รับแรงบันดาลใจจากองค์กรเน็กซ์ซัสที่มีเครือข่ายพัฒนาสังคม
“จากตอนแรกช่วยสังคม โดยไปสอนหนังสือในชุมชน กับโครงการของคุณมีชัย วีระไวทยะ ต่อมาสนใจโครงการด้านการเกษตรที่จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งมีบริษัทนวัตกรรมชาวบ้านที่ทำเกษตรอินทรีย์ สอนให้ชาวนาปลูกข้าวให้เก่ง แต่ไม่สามารถหาทุนไปซื้อปุ๋ยและขาดความรู้ในการปลูกข้าวให้ได้ดีเหมือนที่ลุ่ม ผมจึงเข้าไปช่วยให้เขาพบกับโครงการข้าวอิ่ม ของคุณกรณ์ จาติกวณิช เพื่อต่อยอดความรู้นวัตกรรมปลูกข้าวระบบน้ำหยด”

IMG_2861

ส่วนประสบการณ์ฝั่งด้านกฎหมาย “นายวินท์ ภักดีจิตต์” กรรมการสำนักกฎหมาย เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี ประเทศไทย บอกว่า การเป็นนักกฎหมายด้านธุรกิจทำให้เขาไม่ค่อยมีเวลามากนัก จึงช่วยเหลือสังคมได้เป็นครั้งคราว เช่น ช่วยเรื่องการจัดตั้งมูลนิธิต่างๆ ปัญหาการค้ามนุษย์ รวมถึงการบริจาคทุนสร้างโรงเรียน ช่วยสอนหนังสือเป็นครั้งๆ ไป จนกระทั่งช่วงที่ได้เรียนหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน (หลักสูตร วตท.) รุ่น 19 เขาได้ร่วมกับเพื่อนๆ จัดตั้งบริษัทขึ้นมา โดยนำเอาผักตบชวามาผลิตเป็นวัสดุรองนอน และขายให้แก่มหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งนอกจากได้ช่วยกำจัดผักตบชวาในแม่น้ำแล้ว ยังมีส่วนช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน หรือคืนกำไรให้แก่สังคมด้วย
นี่คือ “ตัวอย่าง” ของอาสาสมัครจากภาคธุรกิจ ที่ได้ “ร่วมลงมือทำ” นำความรู้ความคิดประยุกต์ใช้จนเกิดประโยชน์ต่อสังคมในวงกว้าง นอกจากนี้ ทั้ง 3 ท่าน ยังร่วมเป็นคณะกรรมการกำกับทิศทางพัฒนากลไกระดมทุนและพัฒนาเครื่องมือการลงทุนเพื่อสังคม ร้อยพลังเปลี่ยนประเทศ ร่วมกับนางวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ นางวาทนันท์ พีเตอร์สิค นางดวงทิพย์ เอี่ยมรุ่งโรจน์ นายวิเชียร พงศธร และนายสุนิตย์ เชรษฐา คาดว่าพร้อมเปิดตัวกลไกนี้ในปี 2559 ขณะที่ก่อนหน้านี้โครงการร้อยพลังเปลี่ยนประเทศได้รับการสนับสนุนจากอาสาสมัครระดับองค์กรอย่าง บลจ.บัวหลวง ซึ่งนางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ในฐานะคณะกรรมการพิจารณาโครงการเพื่อสังคม กองทุนรวมคนไทยใจดี (BKIND) ได้ให้การสนับสนุนไปแล้ว 11 โครงการ รวมงบประมาณ 10.56 ล้านบาท
ตลาดนัดร้อยพลังฯ ระดมอาสา-ทรัพยากรสำคัญ
ขยายผล 7 โครงการเพื่อสังคม
นอกเหนือจากอาสาสมัครนักการเงินและนักกฎหมายข้างต้นแล้ว โครงการเพื่อสังคมที่พร้อมขยายผลในร้อยพลังเปลี่ยนประเทศ ยังต้องการอาสาสมัครผู้เชี่ยวชาญเฉพาะในสายงานต่างๆ ทั้งด้านการตลาด การบริหารจัดการธุรกิจ การสื่อสาร การออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ งานเชิงปฏิบัติการ ด้านบัญชีการเงิน ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมไปถึงอาสาสมัครทั่วไป
ภายในงานตลาดนัดโอกาสฯ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีระดมทรัพยากรสำคัญ 4 ด้าน คือ “คน/อาสาสมัคร-เครือข่าย-เงินทุน-ความรู้” ให้แก่โครงการเพื่อสังคม 7 โครงการต้นแบบ ที่มีการพัฒนาจนเกิดความก้าวหน้า มีความสำเร็จในระดับหนึ่ง และพร้อมที่จะขยายผล ครอบคลุม 5 ประเด็นปัญหาสังคมที่สำคัญ ได้แก่ เด็ก เกษตรกร คนชรา คนพิการ และทุจริตคอร์รัปชัน

โครงการที่มีความต้องการด้าน “อาสาสมัคร” ได้แก่ โครงการช่วยเหลือและพัฒนาเยาวสตรี ของมูลนิธิบ้านศรีชุมพาบาล ซึ่งดำเนินงานมาแล้ว 50 ปี ช่วยเหลือเยาวสตรีที่อยู่ในภาวะเสี่ยงต่างๆ ไปกว่า 5 พันคน ซิสเตอร์ยาณี ภานุรักษ์ อธิการิณี คณะภคินีศรีชุมพาบาล กรุงเทพฯ บอกว่า หลักการช่วยเหลือเยาวสตรีของมูลนิธิฯ จะยึดหลักคำสอนของพระเยซู ที่นำความรักและเมตตามาใช้เยียวยาช่วยเหลือเด็กให้ยืนในสังคมได้ด้วยตัวเอง เพื่อให้เด็กและสตรีเห็นคุณค่าของตัวเอง และมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โครงการต้องการนักจิตวิทยาและเงินทุนสนับสนุนการบริหารจัดการช่วยเยาวสตรีคนละ 53,610 บาท จำนวน 90 คน
ขณะที่ “โครงการส่งน้องเรียนสร้างเด็กดี” ที่ไม่เพียงแต่ให้ทุนการศึกษาแก่เด็กขาดโอกาสเท่านั้น ยังติดตาม ให้คำแนะนำ และปลูกฝังคุณธรรมที่ดีงามต่อเนื่องจนเด็กเรียนจบม.6/ ปวช.3 เนื่องจากพบว่า ยังมีเด็กหลุดจากระบบการศึกษามากถึง 50-60% “เราให้ทุนการศึกษาแก่เด็กที่ขาดโอกาสจบภาคบังคับ ขณะเดียวกันก็ปลูกฝังให้เด็กเป็นคนดีมีคุณภาพและผู้ให้สังคม” อ.ทิพย์สุดา สุเมธเสนีย์กรรมการมูลนิธิยุวพัฒน์ บอก โครงการนี้จึงต้องการอาสาสมัครพี่เลี้ยง และทุนการศึกษาสำหรับนักเรียน 4,000 คน เฉลี่ยทุนละ 45,000 บาท และ 66,000 บาทตลอดปีการศึกษา 2559-2565

ยังมี “โครงการคนกล้าคืนถิ่น” ที่ต้องการแก้ปัญหาด้านการเกษตร โดยวิธีบ่มเพาะความรู้ความเข้าใจด้านการเกษตรให้กับลูกหลานเกษตรกรที่อยากกลับคืนถิ่น และให้ใช้ชีวิตแบบพึ่งตนเองได้อย่างมั่นคง ดร.สุมิท แช่มประสิทธิ์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย บอกว่า ภาคเกษตรยิ่งทำ ยิ่งอ่อนแอ ขณะที่ภาคเมืองเองก็ถึงทางตัน จึงต้องสร้างความสมดุลระหว่างเมืองและชนบทก่อน โดยสร้างเอสเอ็มอีเกษตรให้ได้ 1 ล้านคน เพื่อเป็นต้นแบบ 1,000 คน จากที่ตอนนี้มีต้นแบบแล้ว 600 คน โครงการนี้ต้องการอาสาสมัครไม่จำกัดจำนวน และเงินทุน 28,000 บาทต่อการสร้างคนกล้า 1 คน ซึ่งตั้งเป้าหมายไว้ที่ 1,600 คน ในปี 2559 จากเป้า 1 ล้านคนภายใน 5 ปี

สำหรับโครงการที่มาระดมทรัพยากรด้าน “เงินทุน” ได้แก่ “โครงการสื่อดิจิทัลลดความเหลื่อมล้ำวิทย์-คณิต” ซึ่ง “ธานินทร์ ทิมทอง” ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น จำกัด เล่าถึงการนำดิจิทัลคอนเทนท์มาเป็นเครื่องมือลดปัญหาการขาดแคลนครูโดยเฉพาะวิชาวิทย์และคณิต โดยช่วยการเรียนของเด็กและการสอนวิทย์และคณิตของครูในโรงเรียนชนบทห่างไกล เพื่อยกระดับการศึกษาไทยให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น โครงการต้องการทุน 610,000 บาทต่อโรงเรียน เพื่อนักเรียนด้อยโอกาส 300 คน

“โครงการคนลำสนธิไม่ทอดทิ้งกัน” ต้นแบบการสร้างนวัตกรรมจัดการสังคมสูงวัย ที่เปลี่ยนการสังคมสงเคราะห์ให้เป็นโมเดลช่วยเหลือกัน โดยทีมหมอและนักบริบาลชุมชน ออกไปเยี่ยมเยียนดูแลผู้ป่วยถึงบ้านที่เรียกว่า “ทีมหมอครอบครัว” “นพ.สันติ ลาภเบญจกุล” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลลำสนธิ กล่าวว่า “เราคิดว่าทีมหมอครอบครัวจะเป็นตัวอย่างของการออกแบบระบบการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยสูงอายุที่ยากไร้และภาวะสุดท้าย ให้เกิดขึ้นทั่วประเทศเพราะอยากให้คนด้อยโอกาสมีชีวิตที่ดีขึ้น หากได้เงินทุนเพิ่มก็จะทำให้ระบบสมบูรณ์ขึ้น” โครงการต้องการระดมทุน 364,000 บาทต่อเดือน สำหรับการบริหารสถานบริบาลผู้สูงอายุและ 125,000 บาทต่อเดือนสำหรับงานบริบาลอาสาผู้ป่วยสูงอายุในชุมชนเป็นระยะเวลา 1 ปี
ในส่วนของโครงการที่มาระดมทรัพยากรด้าน “เครือข่าย” ได้แก่ “โครงการหลักสูตรสุจริตไทย” เกิดขึ้นจากความต้องการที่จะร่วมป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชัน โดยใช้หลักสูตรออนไลน์เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการทุจริต คอร์รัปชันต่างๆ ตลอดจนแนวทางการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง “มนุษย์ทุกคนพร้อมโกง ยิ่งเก่ง ยิ่งโกง เพราะหาเหตุผลมารองรับได้ ผมจึงอยากทำหลักสูตรนี้เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนและบอกให้รู้ว่า อะไรคือสุจริตและทุจริต ขู่ให้กลัวจะได้ไม่กล้าโกงและเกิดความละอายใจ จึงต้องการเครือข่ายขยายผลมาช่วยกันอีกมาก” ดร.วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอ เอดดูเคชั่น โซน จำกัด กล่าว

ด้าน “โครงการจ้างงานคนพิการเพื่อทำงานให้ชุมชนและองค์กรสาธารณประโยชน์” ได้คิดนวัตกรรมจ้างงานคนพิการรูปแบบใหม่มาใช้ให้เหมาะสมกับการดำรงชีวิต และแก้ปัญหาให้ผู้ประกอบการที่ไม่สามารถจ้างคนพิการได้ครบตามที่กฎหมายกำหนด“อภิชาต การุณกรสกุล” ประธานมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม กล่าวว่า “ปัจจุบันมีคนพิการอีกราว 3.5 แสนคนไม่มีงานทำ เพราะงานส่วนใหญ่อยู่ในเมือง เราจึงคิดนำงานและเชื่อมผู้ประกอบการให้เข้าหาคนพิการในชุมชนและส่งเสริมอาชีพไปด้วย แต่ยังขาดเครือข่ายจึงอยากให้เอกชนมาช่วยสนับสนุนกันมากๆ”
หากใครที่คิดจะช่วยสังคม แต่ไม่รู้จะช่วยอย่างไร มาทำความรู้จักและเริ่มลงมือทำกับโครงการเพื่อสังคมต่างๆ ได้ที่ www.thailandcollaborationforchange.com “ร้อยพลังเปลี่ยนประเทศ” พร้อมเป็น “ตัวกลาง” สร้าง “พลังร่วม” แก้ไขปัญหาสังคม
เชื่อเถอะว่า พลังของพวกเราทุกคน สร้างการเปลี่ยนแปลงประเทศขนาดใหญ่ได้!!