พลังความร่วมมือภาคธุรกิจ-สังคม
ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ปัญหาการศึกษา ปัญหาเยาวชน ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ล้วนเป็นปัญหาขนาดใหญ่ของประเทศไทย ที่เป็นต้นตอสำคัญที่นำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งของสังคมไทยในช่วงตลอดทศวรรษที่ผ่านมาการประสาน “พลังความร่วมมือ” ของทุกภาคส่วนจึงเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ ภาคสังคมและภาคประชาชน รวมตัวกันเกิดเป็น “พลังเครือข่ายระดับประเทศ” ที่พร้อมร่วมเปลี่ยนประเทศ ประกอบด้วย องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ปลุกพลังเปลี่ยนไทย ร้อยพลังเปลี่ยนประเทศ เครือข่ายอนาคตไทย กองทุนคนไทยใจดี (BKIND) และ “Global Impactors Network” วันนี้เริ่มเห็นภาพที่ชัดขึ้นแล้วว่า หลังจากร่วมกัน “ลงมือทำ คนละไม้คนละมือ” กำลังก้าวไปสู่ “Collective Impact” หรือ “ผลกระทบโดยรวมต่อสังคม” ขนาดใหญ่ เพื่อร่วมสร้างสังคมไทยที่น่าอยู่ในอนาคต
4 พลังเครือข่ายระดับประเทศพร้อมร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลง
หนึ่งในเครือข่ายระดับประเทศ อย่าง องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน(ประเทศไทย) “ประมนต์ สุธีวงศ์” ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ฉายภาพว่า ที่ผ่านมาหลายองค์กรได้ร่วมมือกันมากขึ้น และเห็นแนวโน้มที่ดีเรื่อยๆ โดยเฉพาะพลังร่วมของภาคเอกชน ภาคสังคม และประชาชน รวมถึงภาครัฐที่อยากสร้างสังคมที่ดีให้เกิดขึ้น แม้จะยังมีอุปสรรคอยู่บ้างตรงที่คนไทยยังไม่เห็นความจำเป็นของความร่วมมือกันเท่าที่ควร
อย่างไรก็ตาม การต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน ถือเป็นการแก้ปัญหาระยะยาว และหลังจากร่วมมือกันทำงานมา 5-10 ปี ได้มีผลการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นพอสมควร ประชาชนคนไทยเกิดการตื่นตัวและเห็นภัยของการทุจริต และพร้อมที่จะร่วมมือกันมากขึ้น
“ช่วง 3-5 ปีข้างหน้า องค์กรจะทำงานเชิงโครงสร้างหรือระบบป้องกันการทุจริตให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งในสภาปฏิรูปฯ เองได้มีมาตรการขับเคลื่อนที่จะทำให้การทุจริตทำได้ยากขึ้นและมีบทลงโทษที่เร็วขึ้น จึงเริ่มเห็นว่าสังคมไม่ได้ปล่อยปละละเลยเรื่องการทุจริต ผมคิดว่าพลังประชาชนเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยกันทำงานให้สำเร็จ พวกเราต้องลุกขึ้นร่วมกันต่อสู้กัน”
อีกเครือข่ายระดับประเทศที่มีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยทุกระดับตลอดมา ก็คือ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่ร่วมกันดำเนินการ “โครงการปลุกพลังเปลี่ยนไทย” โดย “กฤษณะ วจีไกรลาศ” ตัวแทนหอการค้าไทยและสภาหอการค้าฯ บอกว่า สังคมไทยยังมีช่องว่างของรายได้ระหว่างคนรวยกับคนจนที่กว้างมาก ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำของสังคม เครือข่ายหอการค้าและสภาหอการค้าฯ ที่มีอยู่ทั่วประเทศจำนวนมาก จึงรวมพลังกันทำโครงการปลุกพลังเปลี่ยนไทย เช่น ลงพื้นที่ไปร่วมกับโรงเรียนเพื่อปลุกจิตสำนึกเด็กเยาวชนในเรื่องต่างๆ อย่างการทุจริตคอร์รัปชัน มีการปลูกฝังจรรยาบรรณการทำธุรกิจที่ดี การสร้างเสริมสุขภาพ ก็มีโครงการปั่นจักรยานในหลายจังหวัด และข้ามประเทศไปลาว มาเลเซีย โดยนำธงไทยติดไปด้วยเพื่อให้เห็นว่าเมืองไทยต้องการเปลี่ยนแปลงและรวมพลังให้สังคมดีขึ้น
นอกจากนั้น ยังได้ก่อตั้งกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่หอการค้าไทย (YEC) ที่มีอายุกว่า 20-30 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเถ้าแก่น้อย ตลอดจนทำโครงการสอนเกษตรกรเพื่อให้มีรายได้พอเพียง ทำให้วันนี้เกิดพลังคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมมือเปลี่ยนแปลงสังคมจำนวนมาก
ขณะที่ “โครงการร้อยพลังเปลี่ยนประเทศ” เป็นอีกกลไกที่ทำหน้าที่องค์กรตัวกลางเชื่อมต่อทรัพยากรอาสาสมัคร ผู้เชี่ยวชาญ เงินทุน และความร่วมมือจากองค์กรและภาคส่วนต่างๆ เข้ามาสนับสนุนโครงการเพื่อสังคม เพื่อร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลง “วิเชียร พงศธร” ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย บอกว่า “ที่่ผ่านมาปัญหาเด็ก เยาวชน ความเหลื่อมล้ำ ความยากจน เป็นปัญหาขนาดใหญ่ทั้งนั้น เชื่อได้ว่า หากร้อยเรียงพลังหลายภาคส่วนเข้ากับโครงการดีๆ ก็จะทำให้เกิดความร่วมมือกันมากขึ้น และก็น่าจะนำไปสู่ Collective Impact ขนาดใหญ่เกิดขึ้นกับสังคมไทยในอนาคต”
ปัจจุบันมีโครงการที่สมัครเข้าร่วมทั้งหมด 141 โครงการ มี 68 โครงการพร้อมดำเนินงาน และ 31 โครงการที่พร้อมขยายผล เพื่อให้สามารถช่วยคนไทยได้เบื้องต้น 4.12 ล้านคนตามจำนวนกลุ่มเป้าหมายของผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการ ในประเด็นต่างๆ ประกอบด้วย คนชรา คนพิการและสังคมสุขภาวะ 1.3 ล้านคน เยาวชน 4.8 แสนคน คนต้านโกง 3.5 แสนคน คนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ 2.5 หมื่นคน เกษตรกร 1.2 ล้านคน ประชาชนในพื้นที่ท่องเที่ยวชุมชน 3 แสนคน และพลเมืองที่มีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวม 4.6 แสนคน
ด้าน “เครือข่ายอนาคตไทย” เครือข่ายระดับประเทศน้องใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้น และมุ่งแก้ไขปัญหาพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม แต่คนไทยรู้สึกเคยชินและกระทำไปโดยไม่รู้สึกผิด เครือข่ายฯ จึงใช้วิธีสร้างการเปลี่ยนแปลง เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่มีปัญหา ในโครงการว่า “อย่าให้ใครว่าไทย”
“มงคล สกุลเกียรติวัฒนา” ตัวแทนเครือข่ายอนาคตไทย บอกว่า พฤติกรรมของมนุษย์ป้าที่ชอบแซงคิว พฤติกรรมการโกงเล็กๆน้อยๆ การทิ้งขยะในแม่น้ำ แม้กระทั่งพฤติกรรมใช้จ่ายเกินตัว กลายเป็นพฤติกรรมคนไทยที่เคยชิน ทำให้เยาวชนไม่รู้สึกผิด จึงแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการเอาพฤติกรรมเหล่านี้มา “แฉ” ด้วยการสร้างเป็นคลิปและนำเสนอส่งต่อในโลกออนไลน์ วางแผนการสื่อสารเป็น 3 ช่วงคือ 1. ช่วงสร้างกระแส เพื่อให้สังคมเกิดความสนใจ พูดคุยถึงปัญหา เกิดความรู้สึกร่วมในการลงมือทำ 2. ช่วงสร้างจิตสำนึก เป็นการสร้าง วาระแห่งชาติที่ปลุกให้คนทั้งชาติหันมาร่วมมือแก้ปัญหา โดยลงมือปฏิบัติง่ายๆ เริ่มจากตนเอง และ 3. ช่วงสร้างพฤติกรรมไร้หนี้ โดยเริ่มต้นด้วยปัญหาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศคือ ปัญหาการเงิน ที่ผู้คนสร้างหนี้สินจนเคยตัว จากผลการรณรงค์ตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับจากโลกออนไลน์มียอดการเข้าชมสูงถึง 26 ล้านวิว และสร้างการมีส่วนร่วมกับคนในโลกออนไลน์ถึง 27 ล้านคน
”เราช่วยกันเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ ด้วยการสร้างความรู้สึกการมีส่วนร่วม เช่น การนำมาเล่าให้นักศึกษาฟัง ซึ่งส่วนใหญ่รับรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเชิงบวกมากขึ้น จากผลการเผยแพร่ แต่คงต้องใช้ระยะเวลา ผมเชื่อว่า คนไทยอยากเปลี่ยนพฤติกรรมให้ดีขึ้น”
กองทุนคนไทยใจดี-Global Impactors Network 2 โมเดลต้นแบบ ‘พลังร่วมธุรกิจ-สังคม’
คนไทยทุกภาคส่วน รวมถึงภาคตลาดทุนและภาคธุรกิจเอง ก็สามารถสร้างให้นักลงทุน ผู้บริหารที่เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ได้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคมได้เช่นเดียวกัน หนึ่งในเครื่องมือที่นำมาใช้ในการแก้ปัญหาสังคม ซึ่งถือเป็นโครงการต้นแบบ 2 โครงการ คือ “กองทุนรวมคนไทยใจดี” (BKIND) และ “Global Impactors Network” ที่เป็นแบบอย่างที่ดีของการผนึกพลังร่วมระหว่างภาคธุรกิจและภาคสังคม
“กองทุนรวมคนไทยใจดี” เป็นความร่วมมือระหว่างนักลงทุนผู้ถือหน่วย บลจ.บัวหลวง สถาบันเช้นจ์ ฟิวชั่นฯ และมูลนิธิเพื่อคนไทย “หรรสา สุสายัณห์” กรรมการผู้จัดการ บลจ.บัวหลวง บอกว่า กองทุนนี้เกิดขึ้นจากแนวคิดที่ว่าคนไทยมีจิตใจดี มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความร่วมมือ และที่สำคัญมีจิตใจอยากทำบุญ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของคนไทยมายาวนาน จึงนำตลาดทุนเข้าไปเชื่อมโยงกับเงินที่เขาต้องการเสียสละเพื่อทำความดี นำมาลงทุนในกองทุน ซึ่งจะไปลงทุนในหุ้นของกิจการที่มีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม 4 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม (E) สังคม (S) บรรษัทภิบาล (G) และต่อต้านคอร์รัปชัน (C)
“กิจการหุ้นที่เข้าเงื่อนไข 4 ข้อนี้เราจะลงทุน เพื่อย้ำว่ากิจการที่มีเจตนาดีกับสังคมจะได้รับการสนับสนุน และอยากให้กิจการทำดีต่อไป ซึ่งเราอยากให้มีหุ้นดีๆ แบบนี้เกิดขึ้นมากๆ และเมื่อเราส่งสัญญาณว่าเราเลือกหุ้นที่ดี เงินของนักลงทุนที่ตั้งใจทำดี ก็จะเกิดความมั่นคง และตั้งแต่ปี 2559เป็นต้นไปเราจะเน้นผลักดันให้คนรับรู้ เข้าใจและเชื่อถือว่าเงินที่ลงทุนในกองทุนเป็นเงินของท่าน ไม่ได้ไปบริจาควัด เงินยังคงอยู่”
นอกจากนี้ รายได้และค่าใช้จ่ายที่บลจ.บัวหลวงได้รับมาเป็นค่าบริหารกองทุนนั้น จะแบ่งไปทำความดี หรือสนับสนุนโครงการเพื่อสังคมที่ได้รับการคัดเลือกมา เพื่อดึงพลังร่วมมาทำความดีด้วยการมาลงทุนในกองทุนนี้ “ผลลัพธ์ที่ได้นับตั้งแต่กองทุนเปิดตัวมา 1 ปี มีการรวมตัวคนทำบุญร่วมแล้ว 8,000 คน มีเม็ดเงินลงทุนมากกว่า 1,500 ล้านบาท นับเป็นพลังร่วมที่ได้จุดประกายย้ำความเชื่อมั่นว่า คนไทยมีจิตใจทำดีจริงๆ”
ด้าน “สุนิตย์ เชรษฐา” ผู้อำนวยการสถาบันเช้นจ์ ฟิวชันฯ และกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย มองว่า กองทุนนี้เป็นการสร้างนวัตกรรมใหม่และเป็นกองทุนแรกในภูมิภาคนี้ก็ว่าได้ ซึ่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างแรกคือ เป็นครั้งแรกที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นที่ทำงานด้านความยั่งยืน หรือ CSR มีเครื่องมือวัดว่า สิ่งที่ทำให้แก่สังคม สิ่งแวดล้อมมีความยั่งยืนและขับเคลื่อนธุรกิจได้ดีแค่ไหน รวมทั้งทำให้บริษัทจดทะเบียนและตัวผู้ลงทุนในกองทุนนี้เกิดมิติใหม่ของการสร้างความยั่งยืนให้แก่สังคมไทย
“ปัจจุบันกองทุนคนไทยใจดี ได้อนุมัติจ่ายเงินในอัตรา 0.8% สนับสนุนโครงการเพื่อสังคมโดยตรงที่จับต้องได้ไปแล้ว 17 โครงการ เป็นเงินประมาณ 12.08 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่เน้นความยั่งยืน วัดผลและขยายผลได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านเด็กเยาวชน การศึกษา สุขภาพ การประมงพื้นบ้าน เป็นต้น”
ในฐานะตัวแทนของภาคสังคม “สินี จักรธรานนท์” ผู้อำนวยการมูลนิธิอโชก้า ประเทศไทย กล่าวว่า มูลนิธิอโชก้าฯ เป็นเครือข่ายผู้ประกอบการเพื่อสังคมที่ทำงานแก้ไขปัญหาสังคม คนทำงานมีความจริงใจและมุ่งมั่น แต่ยังขาดทักษะบางอย่างโดยเฉพาะด้านการบริหารจัดการ และกระบวนการทำงาน การมาทำงานกับกองทุนรวมคนไทยใจดีจึงทำให้ได้รับความช่วยเหลือทางด้านกระบวนการพิจารณาคัดเลือก การติดตาม และการพัฒนาทักษะในระยะยาว
“เรามองว่าการรับทุนจากกองทุนรวมคนไทยใจดี เป็นการสร้างผลกระทบต่อสังคม ตั้งแต่วิธีคิด กระบวนการทำงาน การใช้ทรัพยากร ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ และที่สำคัญมากคือ กองทุนชี้ให้เห็นว่าการทำงานระหว่างภาคสังคมและธุรกิจ ช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงได้ จากแต่เดิมมักจะเกิดช่องว่างของ 2 ภาคส่วนที่ภาคสังคมมักมองว่า ภาคธุรกิจแสวงหาแต่กำไร และเอาเปรียบด้วยซ้ำ แต่ปัจจุบันเรากำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน”
อีกหนึ่งโครงการต้นแบบ ที่เป็นกลไกความร่วมมือที่ใช้ทรัพยากร “คน” หรือ อาสาสมัครผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ซึ่งเป็นผู้นำภาคธุรกิจและมืออาชีพที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่แตกต่างจากหลากหลายวงการ เข้ามาร่วมกันแก้ปัญหาสังคม ด้วยการให้คำปรึกษาพัฒนาธุรกิจให้แก่วิสาหกิจชุมชนที่ทำงานด้านการแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม นั่นก็คือ “Global Impactors Network” โดยการริเริ่มขององค์การอ็อกแฟม (Oxfam)ประเทศไทยและสถาบันเช้นจ์ ฟิวชันฯ ร่วมสนับสนุนการพัฒนาอาชีพให้กับสตรีในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
“จอมขวัญ ขวัญยืน” เจ้าหน้าที่โครงการภาคเอกชนและการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน องค์การอ็อกแฟม ประเทศไทย กล่าวว่า ก่อนหน้าที่จะมีโครงการนี้ อ็อกแฟมฯ ร่วมเป็นภาคีเครือข่ายในการพัฒนาอาชีพผู้หญิงในพื้นที่ ที่ผ่านมาใช้วิธีการอบรมบ่มเพาะความรู้ แต่เมื่อมีโครงการนี้และภาคธุรกิจเข้ามา ก็สามารถเจาะลึกช่วยผู้หญิงได้มากขึ้น ทำให้เห็นทิศทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ มีดีไซน์ที่ตรงใจกับตลาด และขยายตลาดได้มากขึ้น ทำให้ผลิตภัณฑ์ได้รับความสนใจและมีที่รับซื้อ อีกอย่างที่สำคัญมากก็คือ กำลังใจ เพราะผู้หญิงภาคใต้ห่างไกลคนกรุงเทพฯ พอได้มาเจอกับภาคธุรกิจจากกรุงเทพฯ ก็รู้สึกไม่ถูกทอดทิ้ง
“ทุกวันนี้กลุ่มผู้หญิงที่มาร่วมกันก็ยังพูดคุยและนำความรู้ไปพัฒนาต่อยอด เพราะความรู้อยู่กับตัวเรา เมื่อถ่ายทอดไปให้คนอื่น ไม่ใช่ 1+1 เท่ากับ 2 แต่เป็นพลังมหาศาล โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลและยังขาดแคลน ซึ่งทางอ็อกแฟมฯ ก็พยายามบริหารจัดการเวลาให้จิตอาสาใช้เวลาน้อยที่สุด”
ด้าน “วรวิทย์ ศิริพากษ์” ผู้ก่อตั้งแบรนด์ปัญญ์ปุริ และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ปุริ จำกัด หนึ่งในอาสาสมัครผู้เชี่ยวชาญ บอกว่า เริ่มต้นจากการเข้ามาช่วยสังคมในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่รับรู้สถานการณ์ภาคใต้ แต่ไม่รู้จะมีส่วนร่วมอย่างไร พอรู้จักโครงการ ทำให้รู้ว่าตัวเองสามารถร่วมช่วยบางอย่างได้ รวมถึงด้านธุรกิจที่ทำอยู่ก็สามารถมาร่วมมือกันได้ด้วย เช่น การให้คำแนะนำแก่กลุ่มสตรีสามจังหวัดในด้านดีไซน์ และหาช่องทางการตลาดให้ตรงใจกับผู้บริโภค
“ผมมีความเชื่อว่า เมื่อเราช่วยจากประสบการณ์จริง จะทำให้เขาพัฒนาตัวเองได้ดี และเป็นการช่วยทำให้เกิดความยั่งยืนที่จะเป็นกงล้อที่หมุนต่อไปเรื่อยๆ ดีกว่าการช่วยเงินทุนครั้งเดียว”
“ภัสสร์วี โคะดากะ” ผู้ประสานงานโครงการ Global Impactors Network สถาบันเช้นจ์ ฟิวชันฯ กล่าวว่า โครงการนี้มีอาสาสมัครผู้เชี่ยวชาญประมาณ 30 คน เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ รวมถึงเป็นผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้าน ที่ต้องการมีส่วนร่วมแก้ปัญหาสังคม โดยมาให้คำปรึกษาเกี่ยวกับทักษะทางธุรกิจและการดีไซน์ให้แก่กิจการเพื่อสังคมซึ่งยังขาดด้านนี้อยู่ เพื่อสร้างผลกระทบที่ชัดเจน