Social Investment 1

มูลนิธิอโชก้า (ประเทศไทย) กองทุนรวมคนไทยใจดี (BKIND) โดยบลจ. บัวหลวง มูลนิธิเพื่อคนไทยและสถาบันเช้นจ์ ฟิวชันฯ ร่วมจัดงาน “Social Investment Talk จากการบริจาคสู่การลงทุน” ตัวอย่างการลงทุนทางสังคมที่เกิดจากความร่วมมือของภาคธุรกิจและภาคสังคม “กองทุนรวมคนไทยใจดี” พร้อมนำเสนอผลลัพธ์ทางสังคมจากโครงการที่ได้รับการสนับสนุนหลากหลายประเด็น ชี้ให้เห็นผลกระทบทางสังคมที่ยั่งยืนที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้

 

IMG_8353

นายหรรสา สุสายัณห์ กรรมการผู้จัดการ บลจ. บัวหลวง กล่าวว่า ในปัจจุบันนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าภาคการเงินการลงทุนมีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ของสังคมเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างสถานกาณณ์ Brexit ที่ สหราชอาณาจักร (อังกฤษ) ประกาศลาออกจากสหภาพยุโรป (European Union) นั้น ได้ส่งผลกระทบต่อภาคการลงทุนของประเทศไทยที่ต้องเผชิญกับความผันผวนเช่นกัน นอกจากนี้ จากผลสำรวจของ  MSCI World ESG Index  ยังชี้ให้เห็นว่าทิศทางการลงทุนผ่านเกณฑ์ ESG สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) เป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนคืนแก่นักลงทุนในระยะยาวและสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมเช่นเดียวกัน จึงเป็นที่มาของกองทุนรวมคนไทยใจดีที่มุ่งเน้นลงทุนในบริษัทที่มีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม 4 ด้าน (ESGC)  คือ สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) บรรษัทภิบาล (Governance)  และต่อต้านคอร์รัปชัน (Anti-Corruption)  นอกจากนี้ ร้อยละ 40 ของค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุน หรือร้อยละ 0.8 ของมูลค่าเงินกองทุนของทุกๆ ปี จะได้รับการจัดสรรเพื่อนำไปลงทุนในโครงการสาธาณประโยชน์ต่างๆ เพื่อให้นักลงทุนมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมไทยที่ดีขึ้น

 

IMG_8352

นายชิตพงษ์ กิตตินราดร ผู้ช่วยผู้อำนวยการบริหาร สถาบันเช้นจ์ฟิวชัน ภายใต้มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า รูปแบบของการลงทุนทางสังคมนั้นมีความหลากหลาย โดยแบ่งได้  2 ประเภทหลักคือ 1. การบริจาค (Philanthropy) เป็นการลงทุนโดยหวังผลตอบแทนในระดับต่ำหรือไม่หวังผลตอบแทนเลย และ 2. การลงทุนทางสังคม (Impact Investment) การลงทุนลักษณะนี้จะมุ่งหวังผลกระทบทางสังคมและการขยายผลโครงการในระดับสูง  สำหรับกองทุนรวมคนไทยใจดีนั้นเป็นรูปแบบการลงทุนทางสังคมในลักษณะ Philanthropy – Reactive Strategic กล่าวคือเป็นการลงทุนแบบให้เปล่าในโครงการเพื่อสังคม / กิจการเพื่อสังคม ผ่านยุทธศาสตร์ 3 ด้านคือ 1. Quick win เน้นโครงการที่เห็นผลเร็ว มุ่งให้ความช่วยเหลือเฉพาะหน้า เช่น โครงการผ่าตัดเด็กปากแหว่งเพดานโหว่ โครงการขาเทียมให้ผู้พิการหรือผู้สูงอายุ 2. Leverage เน้นโครงการที่มีรูปแบบการขยายผลในระยะยาว เช่น หลักสูตรโตไปไม่โกงที่อบรมครูทั่วประเทศให้จัดกระบวนการสอนด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน และ 3. Platform คือการสนับสนุนองค์กรที่เป็นแพลทฟอร์มที่ทำงานเพื่อสังคม เช่น สนับสนุนค่าบริหารจัดการของสำนักข่าวอิศรา สื่อออนไลน์ที่ทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนประเด็นต่อต้านคอร์รัปชัน เป็นต้น

นายสถาพร จิรฐาชฎายุ ผู้จัดการแผนกงานพัฒนาโครงการเพื่อสังคม โครงการร้อยพลังเปลี่ยนประเทศ มูลนิธิเพื่อ คนไทย ได้นำเสนอตัวอย่างโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนรวมคนไทยใจดี ในเชิงพื้นที่ของโครงการ “นาแลกป่า” จังหวัดน่าน ได้พื้นที่ป่าคืน 579 ไร่ และครอบครัวจำนวน 29 รายที่ได้รับประโยชน์สู่สมาชิกในครอบครัวกว่า 145 คน นับเป็นต้นแบบการพัฒนาพื้นที่ป่าร่วมกับชุมชน ภาครัฐ และภาคเอกชน หรือโครงการทุนหมุนเวียนเพื่อกลุ่มวิสาหกิจของสตรีสามจังหวัดภาคใต้ ที่หนุนเสริมให้สตรีแม่หม้ายได้มีอาชีพและสามารถพึ่งพาตนเองและเป็นเสาหลักของครอบครัวได้ จากสตรีที่ได้รับทุนตั้งต้นในการทำงาน 14 กลุ่ม 138 คน ส่งผลกระทบสู่ชุมชน และสมาชิกในครอบครัวกว่า 690 ราย ซึ่งโครงการนี้มีการฝึกอาชีพและจำหน่ายสินค้าที่หลากหลาย เช่น การผลิตผ้าคลุมผม, ผลิตภัณฑ์อาหาร และสิ่งทอ ผลกระทบเหล่านี้นอกจากด้านการมองเห็นทั้งเงินทุนสนับสนุนที่ทำให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแล้ว ยังสร้างให้เกิดผลกระทบทางจิตใจและความมั่นคงให้กับผู้ดำเนินโครงการในการทำงานเพื่อสังคม และชุมชนนั้นๆ อีกด้วย

 

Social Investment 2_Sathaporn

นายชิตพงษ์ ได้สรุปข้อมูลภาพรวมผู้ได้รับประโยชน์และผลกระทบของการดำเนินงานของโครงการเพื่อสังคม นับตั้งแต่การก่อตั้งกองทุนรวมคนไทยใจดีเมื่อปลายปี 2557 ได้สนับสนุนโครงการเพื่อสังคมรวมแล้ว 20 โครงการ ผู้ได้รับประโยชน์อันดับหลักรวมกว่า 5,083 คน และผู้ได้รับผลกระทบครอบคลุมประเด็นทั้ง 4 ด้าน (ESGC) เช่น เกษตรกร, เยาวชน เด็กชายแดน ผู้ป่วย ผู้พิการและผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นการลงทุนทางสังคมที่เห็นผลในระยะยาวและสร้างความยั่งยืนให้กับผู้ดำเนินโครงการและผู้ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง

 

 

 

กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน 2559 เวลา 09.00-12.00 น  ณ  อาคาร Knowledge Exchange มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรีโดยได้รับความสนใจภาคีภาคสังคม และภาคธุรกิจเข้าร่วมงานกว่า 30 ท่าน ทั้งนี้มูลนิธิอโชก้า (ประเทศไทย) จะมีการจัดกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่องทั้งงานสัมมนา งานอบรมและอื่นๆ สามารถความเคลื่อนไหวได้ที่ www.scaling-impact.com