“Good Society Day” เปิดเสวนา “จุดร้อยพลัง” สร้างการเปลี่ยนแปลง หาทางออกให้สังคม หวังร่วมมือกัน แก้ปัญหา การศึกษา ธรรมาภิบาล สุขภาพ สิ่งแวดล้อม
วันที่ 22 มี.ค. 2567 ที่ Conference Hall ชั้น 2, TIJ มูลนิธิเพื่อคนไทย จัดกิกรรม “Good Society Day 2024” ร้อยพลังสังคมดี โดยเป็นกิจกรรมในรูปแบบ Talk มีวงเสวนาและบรรยายหลากหลายประเด็น เพื่อชวนทุกคนร่วมสร้างสังคมดี
วิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย กล่าวเปิดงาน โดยระบุว่าจากปัญหาหลายอย่างที่ทำให้สังคมยังดีไม่ถ้วนหน้าหลายองค์กรที่ร่วมงานกันมาหลายสิบปีจึงยังมุ่งหวังที่จะสร้างสังคมดีต่อไป พันธกิจนี้คงยังไม่จบภายใน 1 หรือ 2 ปีข้างหน้า ดังนั้น เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ มีการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพราะภารกิจใหญ่เหล่านี้ต้องอาศัยความร่วมมือ
โดยกิจกรรมนี้เปิดด้วยวงเสวนา “จุดร้อยพลัง” : Collaboration for Good Society มีภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับมิติต่าง ๆ ของภาคสังคมมาร่วมกันแลกเปลี่ยน หาคำตอบว่าทำไมการทำงานแบบ “ร้อยพลัง” สร้างการมีส่วนร่วมถึงสำคัญกับการแก้ปัญหาสังคมในทุกประเด็น ทั้งการศึกษา สาธารณสุข ธรรมาภิบาล สิ่งแวดล้อม รวมถึงการสร้างกลไกเพื่อการลงทุนทางสังคม
จริญญา แจ่มแจ้ง ผู้อำนวยการบริษัทเลิร์นเอ็ดดูเคชั่น จำกัด โดยเลิร์นเอ็ดดูเคชั่นเป็นนวัตกรรมนำเทคโนโลยีเข้ามาผสมผสานทำให้ครูออกแบบการเรียนในวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ให้นักเรียนสนุกมากขึ้น
จริญญา ให้ความเห็นว่า จุดอันตรายของสังคมคือการที่คนส่วนใหญ่คิดว่าหมดหวัง เพราะหลายคนมองว่าปัญหาการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่มาก ทั้งเด็กหลุดออกจากระบบ ความเหลื่อมล้ำด้านทรัพยากร บุคลากรครู แต่ที่แย่ไปกว่านั้นคือปัญหาความยากจนที่รุนแรงขึ้นทุกวัน ยิ่งทำให้เด็กขาดการเข้าถึงการศึกษา ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทุกคนได้ยินกันมาบ่อยครั้ง จนทำให้หลายคนล้มเลิกความตั้งใจในการแก้ไขเรื่องการศึกษา แม้ภาครัฐจะพยายามแก้ไขปัญหา แต่ผลสัมฤทธิ์ที่ออกมาก็ทำให้เห็นว่ายังไม่เกิดผลเสียทีเดียว
“วันนี้สิ่งที่น่ากลัวสำหรับการศึกษา คือ เรากลัวเรื่องการถอดใจ ถ้ามองว่าเรื่องการศึกษาเป็นเรื่องของต่างคนต่างทำ แน่นอนว่ายิ่งทำให้เราไม่มีโอกาสหรือยิ่งถดถอยไปเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุด”
ด้าน สุภอรรถ โบสุวรรณ บริษัท แฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ซึ่งทำงานเกี่ยวกับการสร้างเสริมธรรมาภิบาลในสังคม และต่อต้านคอร์รัปชัน และทำหน้าที่เชื่อมโยงภาคีต่าง ๆ มาทำงานร่วมกันในการยกระดับธรรมาภิบาลในสังคม
สุภอรรถ บอกว่า แม้คนจะเริ่มตื่นตัวกับปัญหาการคอร์รัปชัน แต่ยังมีปัญหาในการเปิดเผยข้อมูล การสร้างการมีส่วนร่วม ซึ่งภาคสังคมจะทำให้กระบวนการมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงมีการทำงานร่วมกับภาคีต่าง ๆ ที่มีประเด็นการสร้างเสริมธรรมาภิบาล เช่น ข้อมูลของผู้แทนราษฎรที่ตรวจสอบได้ ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ มีภาคีเข้ามาทำระบบในการตรวจสอบ และให้ประชาชนร้องเรียนได้ ดังนั้น การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้ก็เป็นหลักสำคัญของธรรมาภิบาล
นพ.สันติ ลาภเบญจกุล สถาบันพัฒนาระบบบริการสุขภาพองค์รวม (สพบ.) ภายใต้มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ซึ่งทำงานในประเด็นคุณภาพชีวิต และสุขภาพในมุมกว้าง ซึ่งมีความตั้งใจอยากทำงานเชิงลึก เพื่อจะส่งผลในวงกว้าง ทั้งกลุ่มเยาวชนที่มีความเปราะบาง เรื่องสุขภาพของวัยทำงาน กลุ่มผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียง และการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้ตายดี รวมไปถึงผู้หญิงที่ติดคุกที่ได้รับประสบการณ์ที่ไม่ดี เราอาจสามารถใช้จิตวิทยาสังคมทางการแพทย์ไปปรับใช้ในวงกว้างได้ ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจว่าจะคลี่คลายสถานการณ์ได้
ด้าน สุนิตย์ เชรษฐา จาก Change Fusion องค์กรภายใต้มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเน้นการขับเคลื่อนให้สังคมกับเศรษฐกิจไปสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม
มองว่า โครงสร้างปัญหาในสังคมถูกสะสมและซับซ้อนมาก จนประทุออกมา ทั้งเรื่องของโลกร้อน และเรื่องธรรมชาติที่มีปัญหา เช่น ปัญหาไฟป่า แต่เรื่องงบประมาณ อุปกรณ์ดับไฟ นั้นมีปัญหาซับซ้อนมากกว่านั้น เช่น ข้อมูลปี 2566 ว่าพื้นที่ป่ามีการเผาไหม้กว่า 5 ล้านไร่ ดังนั้น เมื่อพูดถึงสเกลของปัญหาแล้ว จึงจินตนาการไม่ออกว่าจะหาทางออกอย่างไร และจำนวนเจ้าหน้าที่ก็มีจำนวนจำกัด ทางเดียวที่จะรอดได้ คือการดึงให้ภาคประชาชนที่อยู่รอบป่า อยู่ใกล้ทะเล ขึ้นมาเพื่อเป็นคนที่จะปกป้องดูแลพื้นที่ของเขา
มีกฎหมายออกมาเรื่อง พ.ร.บ.ป่าชุมชน มีการแก้ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ร.บ.อุทยาน หรือ พอช. ที่เป็นทรัพยากรชายฝั่ง ซึ่งเป็นนิมิตรหมายใหม่มาก เพราะมีกฎหมายมาเอื้อความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้เห็นว่าปัญหาต่าง ๆ ต้องแก้ไปพร้อม ๆ กัน ทั้งเรื่องสิทธิในพื้นที่ของชุมชน กฎหมายตอนนี้มีทางออกเกือบหมด ซึ่งมีการทำความเข้าใจ และการจัดการร่วมกัน ทำให้คนชุมชนสามารถทำอาชีพไปพร้อมกับการดูแลพื้นที่ได้อย่างสมดุลกัน
ช่วงท้ายของวงเสวนานี้ จริญญา บอกว่า ความสำคัญของการร้อยพลังเพื่อแก้ปัญหาสังคม ส่วนแรกอยากให้สังคมเห็นว่าในเรื่องการแก้ปัญหาภาพรวมของการศึกษาทางเลิร์นเอ็ดดูเคชั่น สามารถทำได้และกำลังทำอยู่ ส่วนที่สองมีความเชื่อว่าถ้ารวมตัวกันแล้วทำเกี่ยวกับเรื่องการศึกษาให้สเกลใหญ่ขึ้น ก็จะสามารถนำไปสู่ภาคนโยบายได้ และส่วนที่สาม คือรวมพลังร่วมกันขยายผล ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ และร่วมกันลงมือปฏิบัติ
เช่นเดียวกับ สุภอรรถ ที่บอกว่าในเรื่องของธรรมาภิบาลนั้นเป็นเรื่องใหญ่ คนเดียวแก้ไม่ได้ และเวลาจะแก้ก็มีหลายช่วงที่จะทำให้การแก้ปัญหาสำเร็จได้ เช่น การเชื่อมโยงไปสู่ด้านวิชาการว่าจะทำอย่างไรให้การต้านคอร์รัปชันเกิดขึ้นจริง ต้องร่วมกับแหล่งทุน แหล่งทรัพยากร ทั้งกำลังคนหรือทุนทรัพย์ด้วย
ซึ่งเสวนาในครั้งนี้หวังว่ากลายเป็นจุดเริ่มในการร้อยพลัง และสร้างความหวังให้กับสังคมต่อไป โดย กิจกรรม “Good Society Day 2024” ยังมีอีกหลายวงเสวนาที่จะบอกเล่าประสบการณ์ในประเด็นทางสังคมต่าง ๆ ทั้งการศึกษา สิ่งแวดล้อม การส่งเสริมธรรมาภิบาล การพัฒนาสังคม ความร่วมมือของสื่อกับสังคม การลงทุนที่เปลี่ยนแปลงสังคม เป็นต้น ซึ่งจะจัดขึ้นอีกวันในวันที่ 23 มี.ค. 2567
ที่มา : https://theactive.net/news/social-movement-20240322/