ดร.กอบศักดิ์ ชี้ภาพลวงตาของรัฐสวัสดิการ ปลายทางประชาชนก็ยังไม่หลุดเส้นยากจน โอกาสเท่าเทียม ลดเหลื่อมล้ำ ภาพคนเร่ร่อนในสหรัฐโดยรวม 5 แสนคน และมีแนวโน้มใช้เงินเพิ่มขึ้น สะเทือนถึงงบประมาณที่ยังถมไม่เคยเต็ม เป็นทางตันที่ไทยไม่ควรเดินตามไป เร่งสร้างความเข้มแข็งจากฐานราก หนุนมาตรการบีโอไอ ให้ภาคธุรกิจช่วยกระจายช่องทางสร้างมูลค่าสินค้าชุมชน

‘ความจน’ เป็นความเหลื่อมล้ำ และความเท่าเทียมที่เราต่างเกิดมาไม่เท่ากัน สาเหตุมาจากโอกาสการเข้าถึงทรัพยากร และระบบเศรษฐกิจก็มีความแตกต่างกัน ในยุคที่โลกต่างต้องการไกลเกลี่ยสมดุลของความมั่งคั่ง ทวงถามคนรวยเป็นเจ้าของทุนกลับยิ่งรวยขึ้น แต่ทำไมคนฐานราก ต้นทุนต่ำกว่ายิ่งทำยิ่งจน ถึงโอกาสยากกว่า จึงถึงยุคที่คนกุมทรัพยสิน ทรัพยากรจะต้องหันมาแบ่งปัน กระจายความมั่นคง โอกาส และทรัพยากรให้มีพื้นฐานชีวิตที่ดีขึ้นอย่างเท่าเทียม

บทเรียน Homeless ในอเมริกา 
เตือนไทยให้ระวังกับดัก ถมเงิน รัฐสวัสดิการ

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กล่าวปาฐกถา ในหัวข้อ“โอกาส และอนาคต ของการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคม” มองว่า ในยุคปัจจุบันเรากำลังเดินตามรัฐสวัสดิการของสหรัฐอเมริกา ที่ใช้งประมาณจำนวนมาก แต่กลับยิ่งมีปัญหาทางสังคมเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะคนไร้บ้าน คนตกงานยิ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปี นี่คือ ผลลัพธ์ที่ทำให้ สังคมในสหรัฐเป็นรัฐที่เริ่มนำรัฐสวัสดิการมาใช้ แต่ทำไมกลับยิ่งทำให้สังคมอ่อนแอ ในปี ค.ศ.2019 พบว่า มีจำนวนประชากรกว่า 40 ล้านคน ยังอยู่ในความยากจน และทุกคืนจะมีคนต้องออกมาเร่ร่อนอยู่บนถนน หรือที่เรียกว่า Homeless ถึง 5 แสนคน และจำนวนครึ่งหนึ่งประเทศประสบปัญหา รายได้เดือนชนเดือน มีคนกว่าสิบล้านคน ต้องประสบปัญหาชีวิต

“ปัญหาทางสังคมมากมาย ที่เกิดขึ้นเพิ่มขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ดีที่สุดประเทศหนึ่ง ต้องเพิ่มมูลค่างบประมาณเข้าไปอุดหนุนเงินประกันสังคม และประกันสุขภาพ ที่คาดว่าจะต้องใช้เงินเพิ่มขึ้นถึง 60% ภายในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) นี่คืออนาคตที่เป็น “หลุมพรางทางนโยบาย” ที่สุดท้ายก็ยังต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นแต่ปัญหาทางสังคมกลับไม่ลดลง ความจริงที่ต้องกลับมาถามตัวเอง อนาคตไทยต้องการแบบนี้หรือไม่”

คนไทยไม่ใช่ทุกคนเปราะบาง
ต้องร่อนตะแกรงแยกคนมีพลังพึ่งพาตน

ดร.กอบศักดิ์ กล่าวต่อว่า เมื่อรัฐบาลยังเดินหน้าใช้รัฐสวัสดิการไปแก้ไขปัญหา ความเหลื่อมล้ำ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติที่จะต้องลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาค จะต้องใช้งบประมาณอุดหนุนกลุ่มเปราะบางเดือนละ 3 พันบาท รวมงบประมาณถึง 8.3 แสนล้านบาทต่อปี หรือ 25% ของงบประมาณของประเทศ โดยเฉพาะในจำนวนกลุ่มเปราะบาง มีกลุ่มผู้สูงอายุถึง 13 ล้านคน จะต้องใช้งบประมาณถึง 5 แสนล้านบาทต่อปี และจะต้องอุดหนุนให้เบี้ยยังชีพต่อเนื่อง เพราะคนกลุ่มนี้ ไม่มีรายได้

“คนยากจนในภาคครัวเรือนถึง 10% ที่รัฐบาลกำลังอุ้มอยู่ เมื่อดูตัวเลขเหมือนจะดีขึ้นเพราะมีคนที่พ้นจากขีดความยากจนเหลือเพียง 1 ล้านคน จาก 15 ล้านคน หรือ 5% ของจำนวนประชากร แต่ในความเป็นจริงคนกลุ่มนี้ได้รับความช่วยเหลือการสนับสนุนของรัฐบาล ก็เท่ากับว่า สิ่งที่เห็น คือ ภาพลวงตาของความสำเร็จ เรากำลังสร้างภาพว่าประสบความสำเร็จ ลดความยากจน โดยการแจกเงินให้เค้ามีเบี้ยยังชีพ 64% สุดท้ายหากไม่มีเงินเหล่านี้สนับสนุน ก็กลับไปอยู่จุดเดิม เพราะคนกลุ่มนี้ไม่มีรายได้ ไม่มีอาชีพในอนาคต มีแต่แจกเงิน สุดท้ายก็นำไปสู่ปัญหาทั้งหมดที่เรารออยู่ข้างหน้า”

ส่งเสริมเอกชนเก่งธุรกิจ
จับคู่ แหล่งผลิตสินค้าจากชุมชน

ทางออกของการพัฒนาชุมชนจากฐานรากแท้จริง จึงเป็นคำตอบ ผ่านการสร้างแพลตฟอร์มในการขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชน อาทิ การใช้มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อชุมชนและสังคม ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) โดยการส่งเสริมให้ภาคเอกชน เข้าไปสนับสนุน สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป จากโครงการพัฒนาท้องถิ่นหรือชุมชน ซึ่งคาดหวังจะได้เห็น 1 ตำบล 1 โรงงาน ตอบโจทย์การพัฒนาท้องถิ่นได้ตรงจุด ในการทำภาคธุรกิจที่มีความรู้ความสามารถด้านการตลาดและการทำธุรกิจเข้าไปส่งเสริมศักยภาพของสินค้าชุมชน

สิ่งสำคัญคือ การส่งเสริมให้ชุมชนได้รวมตัวกัน สร้างการพึ่งพาตนเอง จะเป็นการเติบโตจากความสามารถของตัวเองได้อย่างแท้จริง จึงมีความยั่งยืนกว่าการเข้าไปให้เบี้ยยังชีพอย่างเดียว 
ชุมชนที่ประสบความสำเร็จในการรวมกลุ่มพึ่งพาตนเองได้ อาทิ ต.ดงขี้เหล็ก จ. ปราจีนบุรี ร่วมมือกันพัฒนาตั้งสหกรณ์ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สิน ด้วยการรวมเงินเพื่อตั้งสหกรณ์ไม่ถึงร้อยบาทต่อคน จนกองทุนเติบโต เข้าไปแก้ไขปัญหาคนในท้องถิ่น หนี้สิน ที่ดินหลุดมือ รวมถึงที่อยู่อาศัย

“แนวทางที่ยั่งยืนในการแก้ไขปัญหาความยากจน และลดเหลื่อมล้ำในสังคม ต้องมีความเข้มแข็งที่ฐานราก ที่ตัวชุมชนเอง เพราะชุมชนเข้มแข็ง เปลี่ยนแปลงชีวิต ด้วยการเข้าไปส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่ม ปลดปล่อยพลัง ให้ชุมชนได้ยืนอยู่บนขาตัวเองอย่ามีศักดิ์ศรี โดยการตั้งผู้นำชุมชนที่มีความเข้มแข็ง ช่วยกันพัฒนาการรวมกลุ่ม ชุมชนให้เข้มแข็งจากภายใน (Strength From Bottom)”

นอกจากนี้ จะมีแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยการสร้างอาชีพจากกธนาคารต้นไม้ ส่งเสริมให้ปลูกต้นไม้ และสามารถตัดต้นไม้สร้างรายได้ จากทรัพยากรที่ปลูกในพื้นที่หรือท้องถิ่น

ถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยนวิธีคิด ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ ทำให้คนฐากรากหลุดพ้นจากความยากจน ปลดปล่อยศักยภาพ พึ่งพาตัวเองและเลี้ยงตัวเองได้ โดยภาครัฐทำหน้าที่พัฒนาแพลตฟอร์ม สร้างโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร มีรายได้เพิ่ม ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหา โดยไม่ต้องใช้เงินจากภาครัฐ เก็บสวัสดิการไปดูแลกลุ่มคนเปราะบางแท้จริง ขณะเดียวกัน กระตุ้นให้ภาคเอกชน สนับสนุน ชุมชน เพื่อนำกิจกรรมไปลดหย่อนภาษีได้

“ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ ธุรกิจโออาร์ ขายปั้นสิบ ซึ่งเป็นสินค้าจากชุมชน ที่ไม่ใช่เพียงขายในสาขาเดียวแต่ขายในอเมซอนทั่วประเทศ ทำให้ยอดขายจำนวนมาก เปลี่ยนชีวิตของคนชุมชน มีรายได้ พี่น้องทุกคนเมื่อปลดล็อกศักยภาพในตัวจะยืนอยู่บนขาของตัวเองได้ โดยที่ไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากรัฐบาล”

ที่มา : https://www.esguniverse.com/content/252481#!